วิธีจับโกหก เราจะมีหลักการสังเกตอย่างไรได้บ้าง

เครื่องมืออะไรที่ใช้จับโกหกได้ดีที่สุด

บทความโดย
ผศ.ดร.นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ
จิตแพทย์
การโกหกอาจจะเรียกได้ว่าเป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของคนทุกคน ว่ากันว่าในทุกวันคนเราจะต้องเจอกับการโกหกอย่างน้อยสักหนึ่งครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเราโกหกคนอื่น หรือคนอื่นโกหกเราก็ตาม ซึ่งการโกหกอาจเป็นได้ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ จนไปถึงเรื่องสำคัญๆ ดังนั้นสิ่งที่คนจำนวนมากสนใจก็คือ “แล้วเราจะสังเกตได้อย่างไรว่าเรากำลังโดนโกหกอยู่” ในบทความนี้เรามาลองดูกันครับว่าจากการศึกษาวิจัยแล้ว เราสามารถสังเกตสัญญาณของการโกหกได้จากอะไรบ้าง
          คนทั่วไปมีความสามารถในการจับโกหกได้ดีแค่ไหน? หากให้คนส่วนใหญ่ตอบจะพบว่าคนเรามักคิดว่าตัวเองสามารถจับโกหกคนอื่นได้ดี หรืออย่างน้อยก็จับโกหกแฟนได้เก่ง แต่ความจริงแล้วผิดถนัดครับ การศึกษาพบว่าคนส่วนใหญ่มีทักษะในการจับโกหกไม่ต่างจากการโยนหัวก้อยเท่าไหร่เลย การศึกษาของศาสตราจารย์ไวส์แมนพบว่าคนเราจับโกหกได้ถูกต้องเพียง 51.8% เท่านั้น!
          ในความเชื่อของคนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าพฤติกรรมของคนโกหก คือ การไม่สบตา มีท่าทีกระสับกระส่าย หรือขยับมือไปมา ซึ่งความจริงแล้ว “ไม่จริงครับ” คนโกหกส่วนใหญ่ไม่ได้มีท่าทีเช่นนั้น ยกเว้นคนที่ตื่นเต้นหรือกลัวอย่างมากจนควบคุมตัวเองไม่ได้เท่านั้นถึงจะมีอาการดังกล่าว แต่คนส่วนใหญ่มีความสามารถในการควบคุมตัวเองได้ดีกว่านั้นครับ มีการศึกษาจำนวนมากที่ถ่ายวิดีโอของคนที่กำลังโกหกแล้วนำมาวิเคราะห์ พบว่าคนที่โกหกมีพฤติกรรมประเภทไม่สบตาหรือกระสับกระส่ายไม่ได้แตกต่างจากคนที่กำลังพูดความจริงเลย
          บทสนทนาต่อไปนี้ถูกเผยแพร่ในรายการ Tomorrow’s World ทางบีบีซี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิจัยของศาสตราจารย์ไวส์แมน ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์เซอร์โรบินเป็นเวลาสั้นๆ แบ่งเป็น 2 ตอน โดยมีเนื้อหาการสัมภาษณ์ดังนี้
ตอนที่ 1
ไวส์แมน : คุณโรบินครับ คุณชอบภาพยนตร์เรื่องไหนมากที่สุดครับ
เซอร์โรบิน : Gone with the Wind ครับ
ไวส์แมน : ทำไมถึงชอบเรื่องนี้ครับ
เซอร์โรบิน : อืม…มันเป็นหนังที่คลาสสิคครับ นักแสดงก็ยอดเยี่ยม มีดาราเก่ง ๆ หลายคน เช่น คลาร์ก เกบิล นอกจากนั้น ก็มีนักแสดงหญิงยอดเยี่ยมอย่าง วิเวียน ลีห์ อีกด้วย ยอดเยี่ยมที่สุดเลยครับ
ไวส์แมน : คุณชอบตัวละครตัวไหนมากที่สุดครับ
เซอร์โรบิน : อ๋อ เกเบิลครับ
ไวส์แมน : คุณดูเรื่องนี้กี่รอบแล้วครับ
เซอร์โรบิน : อืม…ผมคิดว่าน่าจะสัก 6 รอบแล้วนะ
ไวส์แมน : แล้วดูครั้งแรกเมื่อไหร่ครับ
เซอร์โรบิน : ก็ตั้งแต่ที่หนังออกฉายครั้งแรกแหละครับ ผมว่าน่าจะเป็นปี ค.ศ.1939
ตอนที่ 2
ไวส์แมน : คุณโรบินครับ คุณชอบภาพยนตร์เรื่องไหนมากที่สุดครับ
เซอร์โรบิน : อืม… Some Like It Hot ครับ
ไวส์แมน : ทำไมถึงชอบเรื่องนี้ครับ
เซอร์โรบิน : เพราะทุกครั้งที่ผมดู มันก็ยิ่งตลกมากขึ้นเรื่อย ๆ เลยครับ หนังมีรายละเอียดที่ผมชอบมาก และยิ่งชอบมากขึ้นทุกครั้งที่ได้ดูเลยครับ
ไวส์แมน : คุณชอบตัวละครตัวไหนมากที่สุดครับ
เซอร์โรบิน : อืม…ผมว่าเป็นโทนี เคอร์ติสครับ เขาเล่นได้แบบ…มี เสน่ห์มาก… และก็ฉลาดมากด้วย เขาเลียนแบบแครี แกรนด์ได้เหมือนมากเลย แถมยังตลกมากอีกด้วย โดยเฉพาะเวลาพยายามต่อต้านไม่ให้ตัวเองหลงเสน่ห์ของมาริลิน มอนโร
ไวส์แมน : แล้วคุณดูครั้งแรกเมื่อไหร่ครับ
เซอร์โรบิน : ผมว่าเป็นตอนที่หนังเข้าฉายนะ …เออ… แต่ผมจำไม่ได้แล้วครับว่าเมื่อไหร่
อ่านจบแล้วเป็นอย่างไรบ้างครับ หนึ่งในสองของบทสนทนานี้เซอร์โรบินพูดความจริง ส่วนอีกอันหนึ่งพูดโกหกครับ พอเดาได้ไหมครับว่าตอนไหนจริง ตอนไหนโกหก?

สัญญาณของการโกหก

          หลังจากก่อนหน้านี้เราได้รู้แล้วว่าการพยายามสังเกตการสบตาหรืออาการกระสับกระส่ายนั้นได้ผลน้อยมากในการจับโกหก คราวนี้เรามาดูกันครับว่าจริงๆ แล้วสัญญาณของการโกหกมีอะไรบ้าง? ในที่นี้ผมใช้คำว่า “สัญญาณ” เนื่องจากการมีอาการใดอาการหนึ่งนั้นไม่ได้เป็นการยืนยันนะครับว่าคน ๆ นั้นโกหก มันอาจจะเป็นเรื่องบังเอิญหรือเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ก็ได้ ดังนั้น สัญญาณในที่นี้จึงเป็นเพียงสิ่งที่กระตุ้นให้เราสังเกตว่า “อาจจะ” มีการโกหกเกิดขึ้น ซึ่งหากเราอยากรู้ให้แน่ชัดก็จำเป็นจะต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป

คำพูดและวิธีพูด

          ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่า จริง ๆ แล้วการสังเกตพฤติกรรมของคนพูด แทบไม่ช่วยอะไรเลยในการสังเกตการโกหก ตรงกันข้าม การมัวสังเกตท่าทางมักทำให้เราไขว้เขวจากสิ่งที่ควรสังเกตจริง ๆ นั่นคือ คำพูดและวิธีพูด
          ศาสตราจารย์ไวส์แมนได้ทำการทดลองซึ่งเป็นอันเดียวกับบทสัมภาษณ์ที่อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมข้างต้นนั่นแหละครับ โดยให้ผู้เข้าร่วมทดลองบอกว่าตอนไหนกันแน่ที่เซอร์โรบินโกหก ซึ่งผู้ร่วมทดลองแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามการสื่อสาร 3 รูปแบบ ได้แก่
1) อ่านบทสัมภาษณ์จากกระดาษเหมือนที่ผู้อ่านอ่านจากในกรอบนั่นแหละครับ
2) ฟังแต่เสียงโดยไม่เห็นภาพ และ
3) ดูวิดีโอการสัมภาษณ์ซึ่งเห็นทั้งภาพและเสียง
เดาได้ไหมครับว่า รูปแบบไหน คนตอบถูกมากกว่ากัน
          โดยทั่วไปเรามักเดากันว่าการเห็นทั้งภาพและเสียงจะช่วยให้ตอบถูกมากกว่า แต่การศึกษานี้ผิดครับ กลุ่มคนที่ดูวิดีโอตอบถูกเพียง 51.8% ซึ่งดีกว่าการเดาสุ่มนิดเดียว ในขณะที่คนอ่านเป็นตัวหนังสือตอบถูก 64.2% ส่วนคนที่ฟังแต่เสียง ตอบถูกมากที่สุด คือ 73.4% ดังนั้นแล้ว จะเห็นว่าการสนใจไปที่น้ำเสียงและเนื้อหาคำพูดช่วยในการสังเกตการโกหกได้ดีที่สุด โดยลักษณะของคนที่กำลังพูดโกหกมักจะเป็นดังต่อไปนี้ครับ
  • เนื้อหาสั้นกว่า การโกหกโดยที่ไม่ได้เตรียมคำพูดมาก่อน มักจะทำให้การตอบสั้นกว่าการพูดความจริง หรือลงรายละเอียดได้ไม่มาก หากดูจากบทสนทนาที่เป็นตัวอย่างแล้วจะสังเกตเห็นว่าโดยภาพรวมแล้วเซอร์โรบินจะตอบในตอนที่ 2 ค่อนข้างยาวกว่าตอนที่ 1 ในแต่ละคำถาม
  • ไม่พูดถึงตัวเองหรือไม่ใส่อารมณ์ความรู้สึก เนื่องจากการพูดโกหก สิ่งที่พูดมักเป็นเรื่องที่นึกขึ้นมาเอง จึงเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากตัวเองจริง ๆ ทำให้เวลาพูดมักจะไม่พูดถึงตัวเองหรือไม่มีการใส่อารมณ์ความรู้สึกของตัวเองลงไปเท่าไหร่ ในตัวอย่างจะเห็นได้ว่า ในตอนที่ 2 เซอร์โรบินพูดถึงตัวเอง (ใช้คำว่า “ผม”) บ่อยกว่าในตอนที่ 1 มาก และในตอนที่ 1 เซอร์โรบินพูดถึงนักแสดงแค่ว่า “มีนักแสดงเก่ง ๆ พวกเขายอมเยี่ยมมากเลย” ซึ่งเป็นการพูดแบบทั่วๆ ไป ในขณะที่ตอนที่ 2 พูดว่า “เขา(นักแสดง) เล่นได้แบบ …มี เสน่ห์มาก … และก็ฉลาดมากด้วย เขาเลียนแบบแครี แกรนด์ได้เหมือนมากเลย แถมยังตลกมากอีกด้วย โดยเฉพาะเวลาพยายามต่อต้านไม่ให้ตัวเองหลงเสน่ห์มาริลิน มอนโร” จะเห็นได้ว่าการพูดมีการใส่อารมณ์ความรู้สึกของผู้พูดลงไปมากกว่า ในรายละเอียดที่เป็นส่วนตัวกว่า
  • ตอบในสิ่งที่ไม่น่าจะตอบได้ หรือตอบละเอียดมากแบบไม่น่าจะเป็นไปได้ คนที่โกหกหลายคนมักจะมีความคิดว่า การตอบไม่ได้อาจทำให้เราถูกจับได้ จึงพยายามตอบให้ได้มากที่สุด ทำให้หลายเรื่องที่ไม่น่าจะจำได้ก็สามารถตอบได้ หรือบางครั้งตอบรายละเอียดเยอะมากแบบไม่น่าจะเป็นไปได้ ในตัวอย่างการสัมภาษณ์จะเห็นว่าเซอร์โรบินตอบคำถามว่า “ดูหนังเรื่องนี้ครั้งแรกเมื่อไหร่” ได้ในตอนที่ 1 (ซึ่งเป็นการโกหก) แต่ในตอนที่ 2 ที่พูดความจริงกลับตอบว่าจำไม่ได้ ซึ่งในความเป็นจริงหากมีใครถามเราว่า “ดูหนังเรื่อง …… เมื่อไหร่” หากเป็นหนังเก่าเป็นสิบปี ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็ไม่น่าจะจำได้
  • ความลังเลหรือการตอบช้า เป็นอีกจุดหนึ่งที่เราอาจใช้สังเกตได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขึ้นกับสถานการณ์และเนื้อหาในการพูดคุยด้วย หากเป็นการถามแบบธรรมดาในคำตอบที่น่าจะตอบได้ทันทีแต่คนตอบลังเลหรือดูชะงักไปอันนี้อาจจะเป็นสัญญาณให้เราสงสัยได้ เช่น หากเราถามเพื่อนว่า “เป็นไงบ้าง วันหยุดไปเที่ยวไหนรึเปล่า” โดยปกติคำถามนี้คนส่วนใหญ่น่าจะตอบได้เลยโดยไม่ต้องคิดหรือลังเล แต่หากเพื่อนเราดูลังเลกว่าจะตอบ อันนี้อาจเป็นสัญญาณเตือนอันหนึ่ง
          แต่สิ่งที่ต้องระวังอย่างมาก ในเรื่องของความลังเล ก็คือ มันขึ้นอยู่กับสถานการณ์และวิธีการถามเป็นอย่างมาก คำถามคล้ายเดิม หากเป็นภรรยาถามสามีว่า “เมื่อวานไปไหนมา” (พร้อมสีหน้าจริงจัง) การลังเลในการตอบของสามีอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุนอกจากการโกหก เช่น สามีกำลังคิดว่า “ถามทำไม” หรือ “นี่สงสัยอะไรอีกล่ะ” ก็ได้ โดยที่ไม่ได้ตั้งใจจะโกหก

สีหน้า

          ที่จริงแล้ว สิ่งที่มีประโยชน์ในการสังเกตการโกหก ไม่ใช่ลักษณะท่าทาง แต่เป็นสีหน้า เพราะการขยับมือหรือการสบตาเป็นสิ่งที่ไม่ยากที่จะควบคุม แต่สิ่งที่ควบคุมได้ยากที่สุดหาก เราไม่ใช่นักแสดงมืออาชีพ ก็คือ สีหน้า นั่นเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้การสังเกตสีหน้าจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ง่ายนักสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้รับการฝึกฝนมาก่อน หรือปกติไม่ค่อยได้สังเกตอารมณ์หรือสีหน้าของผู้อื่น
          โดยหลักการทั่วไปเราจะเริ่มนึกถึงสัญญาณของการโกหกเมื่อเกิดความไม่สอดคล้องกันของเนื้อหาที่พูดกับอารมณ์ที่แสดงออก ซึ่งอารมณ์ที่ไม่สอดคล้องนี้เกิดจาก 2 สาเหตุใหญ่ ๆ นั่นคือ การปกปิดอารมณ์ที่มีอยู่ หรือเป็นอารมณ์ที่เกิดจากการโกหกโดยตรง
  • การปกปิดอารมณ์ที่เป็นอยู่ ในกรณีนี้เจ้าตัวโกหกเพื่อปกปิดอารมณ์ที่มีอยู่เดิม เช่น เราเดินไปทักเพื่อนว่า “แก เป็นไงบ้าง” แล้วเพื่อนเราตอบว่า “สบายดี ไม่เป็นไร” แต่เราเห็นสีหน้าดูเศร้าอย่างชัดเจน นี่ก็เป็นตัวอย่างว่า สีหน้าไม่สอดคล้องกับคำตอบที่ว่า “สบายดี” เป็นต้น
  • สีหน้าที่เกิดจากการโกหกโดยตรง โดยส่วนใหญ่เวลาที่คนกำลังโกหกมักจะแสดงอารมณ์ (สีหน้า) อย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 อย่างนี้ ได้แก่
    1) กลัว ซึ่งเกิดจากการกลัวถูกจับได้หรือกลัวผลที่จะตามมา
    2) รู้สึกผิด ซึ่งเกิดจากความรู้สึกผิดที่ต้องโกหก และอย่างสุดท้ายซึ่งพบได้ไม่บ่อยนักนั่นคือ
    3) ดีใจ สีหน้าดีใจที่อาจหลุดให้เห็นในคนโกหกมักจะเกิดจากความสะใจหรือภูมิใจ (ที่โกหกได้) รู้สึกว่าเหนือว่าหรือควบคุมอีกฝ่ายได้ หรืออาจเกิดจากความสนุกตื่นเต้นจากความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในคนที่ชอบความเสี่ยงหรือท้าทาย
          ดังนั้นแล้วหากเราถามเพื่อนว่า “เมื่อวานไปเที่ยวไหนมา” ซึ่งเป็นคำถามชวนคุยทั่วไป แล้วเพื่อนเราแสดงสีหน้ากลัวออกมาตอนที่ตอบว่า “…ก็ไม่ได้ไปไหนนะ” ก็เป็นสิ่งที่อาจฉุกให้เราคิดว่าเพื่อนเราอาจกำลังปกปิดบางอย่างก็เป็นได้ แต่ก็เช่นเดียวกับความลังเล นั่นคือ การตีความสีหน้าต้องทำอย่างระมัดระวังและพิจารณาสถานการณ์ด้วยเสมอ เช่น ภรรยาถามสามีว่า “เมื่อวานไปไหนมา” (ด้วยเสียงดุๆ) สามีอาจแสดงสีหน้ากลัวออกมา ทั้งที่ไม่ได้โกหกหรือไม่ได้ทำอะไรไม่ดีมา แต่เป็นความกลัวที่เกิดจากการคิดว่า “เอาล่ะสิ เดี๋ยวต้องมีทะเลาะกันอีกแน่” เป็นต้น
          ทั้งหมดที่กล่าวมาคือวิธีสังเกตสัญญาณของการโกหกครับ แต่สิ่งที่ต้องย้ำเตือนเสมอคือ การจับโกหกไม่ได้บอกถึงสาเหตุหรือแรงจูงใจของการโกหกนะครับ การโกหกของคู่เราอาจเกิดจากความหวังดีก็ได้ เช่น ภรรยาถามสามีว่า “ไปตรวจสุขภาพมาเป็นไงบ้าง” สามีอาจโกหกว่า “ไม่เป็นอะไร ปกติดี” ทั้งที่ความจริงเจอว่ามีโรคความดันโลหิตสูง แต่เนื่องจากรู้ว่า ภรรยาเป็นคนขี้กังวล ก็เลยไม่อยากบอกความจริง เป็นต้น นอกจากนี้ หากถามว่าชีวิตเราควรนั่งจับโกหกคนอื่นแค่ไหน คำตอบของผมคือแทบจะไม่จำเป็นครับ เราไม่จำเป็นที่ต้องมานั่งจับโกหกทุกคนที่เราเจอในชีวิต เพราะมักไม่มีประโยชน์อะไรและไม่ได้เปลี่ยนอะไร การคอยจับผิดตลอดเวลามักจะทำให้คนที่อยู่ด้วยรู้สึกอึดอัด ไม่มีความสุข แถมยังอาจทำให้เราไม่สบายใจเองอีกด้วย

ข้อมูลอ้างอิง
  • Ekman P, 2007. Emotions revealed: recognizing faces and feelings to improve communication and emotional life. New York: Henry Holt and Company.
  • Wiseman R, 1995. The MegaLab Truth Test. Nature; 373:391.
  • Wiseman R, 2007. Quirkology. London: Conville& Walsh Ltd.
ขอขอบคุณที่มาบทความ
https://www.healthtodaythailand.in.th/จับโกหก/
Name

กระดูกและข้อ,9,การใช้สมุนไพร,13,เกร็ดความรู้สุขภาพ,28,ข้อมูลเกี่ยวกับโรค,83,คลินิกควบคุมน้ำหนัก,16,คลินิกจิตเวช,30,ช่วง Q&A,1,เตือนภัยสุขภาพคุณผู้หญิง,22,ประเด็นสุขภาพที่ควรรู้,130,พบหมอฟัน,1,ระบบสืบพันธุ์,1,รู้ทันโควิด 19-Covid-19,25,โรคความดัน,5,โรคไต,18,โรคเบาหวาน,4,โรคผิวหนัง,15,โรคระบบทางเดินอาหาร,1,เวชศาสตร์ชะลอวัย,22,สุขภาพตา,5,หูคอจมูก,5,อาหารและยา,72,
ltr
item
ไขปัญหาเรื่องสุขภาพ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง: วิธีจับโกหก เราจะมีหลักการสังเกตอย่างไรได้บ้าง
วิธีจับโกหก เราจะมีหลักการสังเกตอย่างไรได้บ้าง
เครื่องมืออะไรที่ใช้จับโกหกได้ดีที่สุด
https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEgtVIUoOlePDkRz3-kLlvWf-wCsN1YqbBlDJLv3b8JfCHIpnHOfq5wYOA8E5_uaqq04lJGaDYM6MxRs5NXPuLyRihyphenhyphenG8ocHcAJW_LXa8ztbxDDEbsMewbjZTG9Rjkz4c-fk7Buy4L5g3aI/s320/%25E0%25B8%25A7%25E0%25B8%25B4%25E0%25B8%2598%25E0%25B8%25B5%25E0%25B8%2588%25E0%25B8%25B1%25E0%25B8%259A%25E0%25B9%2582%25E0%25B8%2581%25E0%25B8%25AB%25E0%25B8%2581%25E0%25B8%25A1%25E0%25B8%25B5%25E0%25B8%2582%25E0%25B9%2589%25E0%25B8%25AD%25E0%25B8%25AA%25E0%25B8%25B1%25E0%25B8%2587%25E0%25B9%2580%25E0%25B8%2581%25E0%25B8%2595%25E0%25B8%25AD%25E0%25B8%25B0%25E0%25B9%2584%25E0%25B8%25A3.jpg
https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEgtVIUoOlePDkRz3-kLlvWf-wCsN1YqbBlDJLv3b8JfCHIpnHOfq5wYOA8E5_uaqq04lJGaDYM6MxRs5NXPuLyRihyphenhyphenG8ocHcAJW_LXa8ztbxDDEbsMewbjZTG9Rjkz4c-fk7Buy4L5g3aI/s72-c/%25E0%25B8%25A7%25E0%25B8%25B4%25E0%25B8%2598%25E0%25B8%25B5%25E0%25B8%2588%25E0%25B8%25B1%25E0%25B8%259A%25E0%25B9%2582%25E0%25B8%2581%25E0%25B8%25AB%25E0%25B8%2581%25E0%25B8%25A1%25E0%25B8%25B5%25E0%25B8%2582%25E0%25B9%2589%25E0%25B8%25AD%25E0%25B8%25AA%25E0%25B8%25B1%25E0%25B8%2587%25E0%25B9%2580%25E0%25B8%2581%25E0%25B8%2595%25E0%25B8%25AD%25E0%25B8%25B0%25E0%25B9%2584%25E0%25B8%25A3.jpg
ไขปัญหาเรื่องสุขภาพ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
https://www.yinyang.in.th/2019/10/blog-post_13.html
https://www.yinyang.in.th/
https://www.yinyang.in.th/
https://www.yinyang.in.th/2019/10/blog-post_13.html
true
6588637073179937695
UTF-8
Loaded All Posts Not found any posts ดูทั้งหมด อ่านเพิ่มเติม Reply Cancel reply Delete By หน้าหลัก หน้า บทความ View All บทความแนะนำ หมวด ARCHIVE สืบค้น ALL POSTS ไม่พบข้อมูลที่คุณกำลังค้นหาค่ะ กลับสู่หน้าแรก Sunday Monday Tuesday Wednesday Thursday Friday Saturday Sun Mon Tue Wed Thu Fri Sat January February March April May June July August September October November December ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค. just now 1 minute ago $$1$$ minutes ago 1 hour ago $$1$$ hours ago Yesterday $$1$$ days ago $$1$$ weeks ago more than 5 weeks ago Followers Follow THIS PREMIUM CONTENT IS LOCKED STEP 1: Share to a social network STEP 2: Click the link on your social network Copy All Code Select All Code All codes were copied to your clipboard Can not copy the codes / texts, please press [CTRL]+[C] (or CMD+C with Mac) to copy