ความรู้ทั่วไปเรื่องยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน

ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินชนิดที่มีเฉพาะฮอร์โมนโพรเจสติน

บทความโดย
รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินหรือยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน (emergency contraceptive pills; morning-after pills, post-coital contraceptives) เป็นยาที่รับประทานหลังจากมีเพศสัมพันธ์แล้ว เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์อันเนื่องจาก การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่คาดการณ์หรือไม่พึงประสงค์ การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่อาจป้องกัน การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การคุมกำเนิดด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง การคุมกำเนิดล้มเหลว เช่น ถุงยางอนามัยชำรุด เป็นต้น ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินจึงใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น ไม่ใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินเพื่อแทนยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทานสม่ำเสมอ (oral contraceptive pills)
เนื่องจากยาคุมกำเนิดฉุกเฉินมีปริมาณฮอร์โมนสูงจึงเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้มาก อีกทั้งมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ต่ำกว่ายาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทานสม่ำเสมอ ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินไม่อาจยุติการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นแล้วจึงไม่ใช่ยาทำแท้ง ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินมีทั้งชนิดฮอร์โมนรวมซึ่งในแต่ละเม็ดมีตัวยาสำคัญเป็นฮอร์โมนในกลุ่มเอสโตรเจน (estrogens) ผสมกับฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสติน (progestins) ชนิดที่มีเฉพาะฮอร์โมนโพรเจสติน (progestin-only emergency contraceptive pills) และชนิดยาต้านโพรเจสติน (emergency contraceptive pills containing an antiprogestin) เช่น mifepristone, ulipristal acetate ซึ่งยาคุมกำเนิดฉุกเฉินใช้กันมากในบ้านเราเป็นชนิดที่มีเฉพาะฮอร์โมนโพรเจสติน ดังนั้นในที่นี้จึงขอกล่าวเฉพาะยาคุมกำเนิดฉุกเฉินชนิดนี้

ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินชนิดที่มีเฉพาะฮอร์โมนโพรเจสติน

ตัวยาสำคัญในยาคุมกำเนิดฉุกเฉินชนิดนี้คือ levonorgestrel มี 2 ความแรง คือ เม็ดละ 0.75 และ 1.5 มิลลิกรัม ที่ใช้กันในบ้านเราเป็นชนิดความแรงเม็ดละ 0.75 มิลลิกรัม (หรือ 750 ไมโครกรัม)

Levonorgestrel เป็นฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสติน (ซึ่งโพรเจสตินเป็นสารสังเคราะห์เลียนแบบฮอร์โมนโพรเจสเตอโรน) ยานี้ถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ดีและรวดเร็ว การรับประทานขนาด 0.75 มิลลิกรัม 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง ให้ชีวประสิทธิผล (bioavailability) มากกว่า 90% อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ที่มาจากผู้ผลิตต่างกันค่านี้อาจแตกต่างกันได้บ้าง ระดับยาสูงสุดในเลือดของขนาดยา 0.75 มิลลิกรัม เกิดภายใน 1 ชั่วโมงหลังการรับประทาน ค่าครึ่งชีวิต 20-60 ชั่วโมง คาดว่าระดับยา levonorgestrel ต่ำสุดที่ให้ผลรบกวนการตกไข่อยู่ที่ 0.48 นาโนโมล/ลิตร การรับประทานยาในขนาด 0.75 มิลลิกรัม ให้ระดับยาในเลือดที่เพียงพอในการออกฤทธิ์รบกวนการตกไข่นานกว่า 12 ชั่วโมง (อาจถึง 24 ชั่วโมงหรือนานกว่านี้) ซึ่งเป็นเวลาที่เพียงพอก่อนที่จะรับประทานเม็ดที่สอง หากรับประทานครั้งเดียวในขนาด 1.5 มิลลิกรัม จะให้ปริมาณยาในเลือด (ค่า area under the concentration-time curve) มากกว่าการรับประทานครั้งละ 0.75 มิลลิกรัม 2 ครั้ง (ห่างกัน 12 หรือ 24 ชั่วโมง) ยานี้ถูกขับออกทางน้ำนมได้ ผู้หญิงที่ให้นมบุตรหากใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินชนิด levonorgestrel อาจงดให้นมบุตรและทิ้งน้ำนมเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง (แต่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง) อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่มีอยู่ยาไม่มีผลกระทบต่อการให้นมทารกและไม่มีผลต่อทารก

ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินออกฤทธิ์อย่างไร?

ตัวอสุจิสามารถรอดอยู่ได้ในทางเดินระบบสืบพันธุ์ผู้หญิงนานสุดถึง 5 วันหลังการมีเพศสัมพันธ์ หากไข่ตกภายในช่วง 5 วันนี้สามารถเกิดการปฏิสนธิ (fertilization) และอาจทำให้ตั้งครรภ์ได้ เป็นที่ยอมรับกันว่าการตั้งครรภ์เริ่มขึ้นเมื่อมีการฝังตัว (implantation) ของไข่ที่ผสมแล้ว ดังนั้นการออกฤทธิ์ของยาคุมกำเนิดฉุกเฉินจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดการปฏิสนธิหรือไม่ให้เกิดการฝังตัว แต่จะไม่รบกวนการฝังตัวที่เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินจึงไม่ใช่ยาทำแท้ง ซึ่งช่วงหลังจากไข่ตกจนถึงช่วงที่จะเกิดการฝังตัวนั้นมีเวลาสั้นเพียงแค่ 6 วัน (แม้ว่าในความเป็นจริงอาจนานกว่านี้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่กว่า 80% ของการตั้งครรภ์ การฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้วเกิดช่วง 8-10 หลังการตกไข่)

การออกฤทธิ์ของ levonorgestrel ในยาคุมกำเนิดฉุกเฉินนั้นข้อมูลส่วนใหญ่ระบุถึงฤทธิ์รบกวนการตกไข่โดยยับยั้งการหลั่ง luteinizing hormone (LH) ที่พุ่งสูงมาก (LH surge) ก่อนไข่ตก จึงยับยั้งการเจริญของถุงไข่ (follicle) หรือการแตกของถุงไข่ และทำให้คอร์พัสลูเทียม (corpus luteum) ไม่อาจทำหน้าที่ได้ ซึ่งการออกฤทธิ์ดังกล่าวถือเป็นกลไกที่สำคัญและมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการตั้งครรภ์ แม้จะมีการคาดคะเนว่ายาอาจออกฤทธิ์อย่างอื่นได้บ้าง เช่น ลดการสร้างเมือกและเพิ่มความหนืดของเมือกปากมดลูกซึ่งทำให้ตัวอสุจิไม่อาจเดินทางไปปฏิสนธิกับไข่ เพิ่มการบีบตัวของท่อนำไข่ เพิ่มการบีบตัวของมดลูกซึ่งทำให้ไข่ที่ปฏิสนธิแล้วมาถึงโพรงมดลูกในเวลาที่ไม่เหมาะสมในการฝังตัว ตลอดจนทำให้เยื่อบุมดลูกไม่พร้อมที่จะรับการฝังตัวของตัวอ่อน แต่การศึกษาด้านประสิทธิผลเมื่อรับประทานยาหลังการตกไข่ไม่ได้สนับสนุนกลไกการออกฤทธิ์ดังกล่าวข้างต้นอย่างชัดเจน การที่ยานี้มีกลไกการออกฤทธิ์ที่สำคัญคือรบกวนหรือชะลอการตกไข่ อีกทั้งผลการศึกษายังไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะสนับสนุนประสิทธิภาพของยาหากรับประทานหลังการตกไข่ ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ได้หากมีการร่วมเพศตามมาอีก นอกจากนี้การรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินซ้ำอาจให้ประสิทธิผลลดลงและยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ของยาอีกด้วย

จะเริ่มต้นรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินได้เมื่อไร?

ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินควรรับประทานทันทีหลังจากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่พึงประสงค์ หรืออย่างช้าไม่ควรเกิน 72 ชั่วโมง ขนาดยา levonorgestrel ที่ใช้เพื่อการคุมกำเนิดฉุกเฉินคือ 1.5 มิลลิกรัม หากเป็นชนิด 1.5 มิลลิกรัม (บางประเทศมีใช้เฉพาะความแรงนี้) รับประทานเพียง 1 เม็ด หากเป็นชนิด 0.75 มิลลิกรัม รับประทานเม็ดที่สองห่างจากเม็ดแรก 12 ชั่วโมง การรับประทานก่อนมีเพศสัมพันธ์เล็กน้อยให้ประสิทธิผลเช่นกัน แต่กรณีนี้จะเป็นการใช้ยาอย่างผิดวัตถุประสงค์ของยาคุมกำเนิดฉุกเฉินซึ่งใช้สำหรับป้องกันการตั้งครรภ์เมื่อมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ก่อน ในกรณีที่มีเพศสัมพันธ์ซ้ำหลังจากรับประทานยาเกิน 24 ชั่วโมง หากพิจารณาจากค่าครึ่งชีวิตของยาแล้วจะต้องรับประทานยาซ้ำอีก อย่างไรก็ตาม การรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินซ้ำอาจให้ประสิทธิผลลดลงและยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ของยาดังได้กล่าวแล้วข้างต้น

ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ของยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน

ข้อมูลด้านประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดฉุกเฉินในแต่ละการศึกษาให้อัตราในการป้องกันการตั้งครรภ์ที่แตกต่างกันได้บ้าง ซึ่งความล่าช้าในการเริ่มต้นรับประทานยาและวิธีการรับประทาน (รับประทาน 1.5 มิลลิกรัมครั้งเดียว หรือครั้งละ 0.75 มิลลิกรัม 2 ครั้งห่างกัน 12 ชั่วโมง) อาจมีผลต่อประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยังไม่มีการศึกษาใดที่ทำการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดฉุกเฉินในการป้องกันการตั้งครรภ์เทียบกับยาหลอกทั้งนี้ด้วยเหตุผลทางด้านจริยธรรม โดยรวมแล้วอาจถือได้ว่ายาคุมกำเนิดฉุกเฉินชนิด levonorgestrel นี้หากใช้อย่างถูกต้องและเริ่มต้นรับประทานภายใน 72 ชั่งโมงหลังการมีเพศสัมพันธ์ จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้ราว 90% โดยอาจมีอัตราล้มเหลว (เกิดการตั้งครรภ์) ได้สูงสุดถึง 3% ซึ่งต่างจากยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทานสม่ำเสมอหากมีการใช้ยาอย่างถูกต้องมีอัตราล้มเหลวรายปี 0.3%

ปัจจัยที่มีผลต่อประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน
  1. ความล่าช้าในการเริ่มต้นรับประทานยา การเริ่มต้นรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินโดยเร็วภายหลังมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่พึงประสงค์ยาจะมีประสิทธิภาพมาก ประสิทธิภาพจะลดลงหากเริ่มรับประทานเกิน 72 ชั่วโมงภายหลังมีเพศสัมพันธ์ และอาจใช้ไม่ได้ผลหากรับประทานล่าช้าเกิน 96 ชั่วโมงหลังการมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ความล่าช้าในการรับประทานยาเม็ดที่สองจะทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลงได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากการศึกษาขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดฉุกเฉินชนิด levonorgestrel ไม่ลดลงตราบจนถึงวันที่ 5 หลังจากมีเพศสัมพันธ์
  2. ดัชนีมวลกาย (body mass index; BMI) การมีดัชนีมวลกายตั้งแต่ 25 กิโลกรัม/ตารางเมตร ขึ้นไปแต่ยังไม่ถึง 30 กิโลกรัม/ตารางเมตร ถือว่ามีน้ำหนักมากเกิน (overweight) และหากมีดัชนีมวลกายตั้งแต่ 30 กิโลกรัม/ตารางเมตร ขึ้นไปถือว่าอ้วนเกิน (obese) หรือเป็นโรคอ้วน จากการศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์พบว่าผู้หญิงที่อ้วนเกินมีระดับ levonorgestrel ในซีรัมต่ำกว่าผู้ที่ไม่อ้วน และบางการศึกษายังพบด้วยว่าผู้หญิงที่อ้วนเกินที่ใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินชนิดนี้มีอัตราการตั้งครรภ์สูงกว่าผู้ที่ไม่อ้วน สำหรับคำแนะนำเรื่องการเพิ่มขนาดยาคุมกำเนิดฉุกเฉินชนิด levonorgestrel เป็น 2 เท่าในผู้หญิงที่อ้วนเกินนั้นยังไม่ไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากบางการศึกษาระบุว่ายังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนถึงผลกระทบเรื่องดัชนีมวลกายต่อประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในการแนะนำให้เพิ่มขนาดยาในผู้หญิงที่อ้วนเกินมีสูงขึ้น บางองค์กรแนะนำให้ใช้การคุมกำเนิดฉุกเฉินวิธีอื่น
  3. ยาชักนำเอนไซม์ตับ จะเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ที่ใช้ในการเปลี่ยนสภาพยาจนอาจทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อมูลว่าจะรบกวนประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ของยาคุมกำเนิดฉุกเฉินชนิด levonorgestrel มากน้อยเพียงใด ตัวอย่างยาที่มีฤทธิ์ชักนำเอนไซม์ตับ เช่น carbamazepine, eslicarbamazepine, oxcarbazepine, phenytoin, phenobarbital, primidone, topiramate, St John’s Wort, antiretrovirals (เช่น ritonavir, efavirenz, nevirapine), rifabutin, rifampin หากมีการใช้ยานี้อยู่ก่อนหรือจำเป็นต้องใช้ยาเหล่านี้ควรพิจารณาใช้การคุมกำเนิดฉุกเฉินวิธีอื่น หรืออาจต้องเพิ่มขนาดยา levonorgestrel อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลว่าประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์มีมากน้อยเพียงใดเมื่อเพิ่มขนาดยา

อาการไม่พึงประสงค์ของยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน

อาการไม่พึงประสงค์ของ levonorgestrel ในยาคุมกำเนิดฉุกเฉินที่อาจพบ เช่น มีเลือดคล้ายประจำเดือนออกผิดปกติหรือออกกะปริบกะปรอย ตกขาวเป็นสีน้ำตาล มักเกิดในช่วงสัปดาห์แรกหลังจากรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน สำหรับประจำเดือนมักมาตรงเวลาหรืออาจคลาดเคลื่อนไปบ้างโดยมาเร็วหรือมาช้าไปราว 1 สัปดาห์ นอกจากนี้อาจเกิดอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ตึงเต้านม คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องช่วงล่าง ประจำเดือนมาก หากรับประทานยาครั้งเดียวในขนาด 1.5 มิลลิกรัม อาจพบอาการไม่พึงประสงค์บางอย่างได้มากขึ้น เช่น ปวดศีรษะ ตึงเต้านม ประจำเดือนมากขึ้น หากรับประทานยามากเกินไปอาจส่งผลทำให้เกิดความผิดปกติที่รังไข่ เยื่อบุโพรงมดลูก รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูก (หากการป้องกันล้มเหลว) อย่างไรก็ตาม หากรับประทานตามขนาดที่แนะนำ ไม่พบอาการข้างเคียงที่ร้ายแรง ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยเมื่อมีการรับประทานยาซ้ำหลายครั้ง และไม่มีหลักฐานว่ายานี้ทำให้เกิดทารกพิการ (teratogenesis) ในกรณีที่การใช้ยาล้มเหลวแล้วเกิดการตั้งครรภ์ขึ้น

จะเริ่มใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทานสม่ำเสมอได้เมื่อไร?

ภายหลังจากรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินชนิด levonorgestrel สามารถเริ่มยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทานสม่ำเสมอต่อไปได้ทันที และช่วงรอให้ยาออกฤทธิ์ราว 1 สัปดาห์นั้นให้งดการมีเพศสัมพันธ์หรืออาจใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วยไปก่อน เช่น ถุงยางอนามัย

คำเตือนและข้อควรระวังเกี่ยวกับการใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน

  1. ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินไม่ใช่ยาทำแท้ง ไม่อาจยุติการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นแล้ว
  2. ไม่ใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินแทนการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานสม่ำเสมอ เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ต่ำกว่ายาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทานสม่ำเสมอ อีกทั้งยาคุมกำเนิดฉุกเฉินมีปริมาณยาสูงหากรับประทานยาซ้ำหลายครั้งจะเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ ได้มาก
  3. ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินออกฤทธิ์รบกวนหรือชะลอการตกไข่ กลไกการออกฤทธิ์อย่างอื่นยังไม่ชัดเจนพอที่จะสนับสนุนประสิทธิภาพของยาหากรับประทานหลังการตกไข่ ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์หากมีการร่วมเพศตามมาอีก การรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินซ้ำอาจให้ประสิทธิผลลดลง นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ของยาอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
  1. นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์. ความเข้าใจเรื่องยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน. สารคลังข้อมูลยา 2560; 19(1):33-41.
  2. WHO. Emergency contraception. Fact sheet, updated June 2017. http://www.who.int/mediacentre/ factsheets/fs244/en/.
  3. Faculty of Sexual and Reproductive Healthcare, UK. FSRH guideline: emergency contraception (updated 29 May 2017). https://www.fsrh.org/ news/fsrh-launches-new-emergency-contraception-guideline/.
  4. Cameron ST, Li HWR, Gemzell-Danielsson K. Current controversies with oral emergency contraception. BJOG 2017; 124:1948-56.
บทความต้นฉบับ
ข้อมูลเพิ่มเติม
Name

กระดูกและข้อ,9,การใช้สมุนไพร,13,เกร็ดความรู้สุขภาพ,28,ข้อมูลเกี่ยวกับโรค,83,คลินิกควบคุมน้ำหนัก,16,คลินิกจิตเวช,30,ช่วง Q&A,1,เตือนภัยสุขภาพคุณผู้หญิง,22,ประเด็นสุขภาพที่ควรรู้,130,พบหมอฟัน,1,ระบบสืบพันธุ์,1,รู้ทันโควิด 19-Covid-19,25,โรคความดัน,5,โรคไต,18,โรคเบาหวาน,4,โรคผิวหนัง,15,โรคระบบทางเดินอาหาร,1,เวชศาสตร์ชะลอวัย,22,สุขภาพตา,5,หูคอจมูก,5,อาหารและยา,72,
ltr
item
ไขปัญหาเรื่องสุขภาพ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง: ความรู้ทั่วไปเรื่องยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน
ความรู้ทั่วไปเรื่องยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน
ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินชนิดที่มีเฉพาะฮอร์โมนโพรเจสติน
https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEjO51P6hZQteOvX5M1lL-PZQMNcoGi-ezUCe03H7pIEH0XHqQefjz3AkqM_8BRLuIFEGnO9kV2QkZAx14_CA2j2tbBcetxEA6ubXIsdELzLyrydUXjk6cRpjZRihTQkwhCTwAlfH50Tb0Y/s320/%25E0%25B8%2584%25E0%25B8%25A7%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%25A1%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%25B9%25E0%25B9%2589%25E0%25B8%2597%25E0%25B8%25B1%25E0%25B9%2588%25E0%25B8%25A7%25E0%25B9%2584%25E0%25B8%259B%25E0%25B9%2580%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%25B7%25E0%25B9%2588%25E0%25B8%25AD%25E0%25B8%2587%25E0%25B8%25A2%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%2584%25E0%25B8%25B8%25E0%25B8%25A1%25E0%25B8%2581%25E0%25B8%25B3%25E0%25B9%2580%25E0%25B8%2599%25E0%25B8%25B4%25E0%25B8%2594%25E0%25B8%2589%25E0%25B8%25B8%25E0%25B8%2581%25E0%25B9%2580%25E0%25B8%2589%25E0%25B8%25B4%25E0%25B8%2599.jpg
https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEjO51P6hZQteOvX5M1lL-PZQMNcoGi-ezUCe03H7pIEH0XHqQefjz3AkqM_8BRLuIFEGnO9kV2QkZAx14_CA2j2tbBcetxEA6ubXIsdELzLyrydUXjk6cRpjZRihTQkwhCTwAlfH50Tb0Y/s72-c/%25E0%25B8%2584%25E0%25B8%25A7%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%25A1%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%25B9%25E0%25B9%2589%25E0%25B8%2597%25E0%25B8%25B1%25E0%25B9%2588%25E0%25B8%25A7%25E0%25B9%2584%25E0%25B8%259B%25E0%25B9%2580%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%25B7%25E0%25B9%2588%25E0%25B8%25AD%25E0%25B8%2587%25E0%25B8%25A2%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%2584%25E0%25B8%25B8%25E0%25B8%25A1%25E0%25B8%2581%25E0%25B8%25B3%25E0%25B9%2580%25E0%25B8%2599%25E0%25B8%25B4%25E0%25B8%2594%25E0%25B8%2589%25E0%25B8%25B8%25E0%25B8%2581%25E0%25B9%2580%25E0%25B8%2589%25E0%25B8%25B4%25E0%25B8%2599.jpg
ไขปัญหาเรื่องสุขภาพ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
https://www.yinyang.in.th/2019/10/blog-post_38.html
https://www.yinyang.in.th/
https://www.yinyang.in.th/
https://www.yinyang.in.th/2019/10/blog-post_38.html
true
6588637073179937695
UTF-8
Loaded All Posts Not found any posts ดูทั้งหมด อ่านเพิ่มเติม Reply Cancel reply Delete By หน้าหลัก หน้า บทความ View All บทความแนะนำ หมวด ARCHIVE สืบค้น ALL POSTS ไม่พบข้อมูลที่คุณกำลังค้นหาค่ะ กลับสู่หน้าแรก Sunday Monday Tuesday Wednesday Thursday Friday Saturday Sun Mon Tue Wed Thu Fri Sat January February March April May June July August September October November December ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค. just now 1 minute ago $$1$$ minutes ago 1 hour ago $$1$$ hours ago Yesterday $$1$$ days ago $$1$$ weeks ago more than 5 weeks ago Followers Follow THIS PREMIUM CONTENT IS LOCKED STEP 1: Share to a social network STEP 2: Click the link on your social network Copy All Code Select All Code All codes were copied to your clipboard Can not copy the codes / texts, please press [CTRL]+[C] (or CMD+C with Mac) to copy