ความรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมและวิธีตรวจหามะเร็งเต้านมด้วยตัวเอง มะเร็งเต้านมหากตรวจพบแต่เนิ่นๆ สามารถรักษาได้ หากตรวจพบช้าทำให้การรักษายากยิ่งขึ้น
พบก้อนแบบไหนน่าสงสัยว่ามีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม
หัวข้อบรรยาย : พบก้อนแบบไหนน่าสงสัยว่ามีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมบรรยายโดย : อ.นพ.วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่มา : ช่อง YouTube : Mahidol Channel
มะเร็งเต้านม รู้เร็วสามารถรักษาให้หายได้
โรคมะเร็งเต้านมเนี่ย เป็นความผิดปกติของเซลล์บริเวณเต้านม แต่ถึงโรคมะเร็งเต้านมเนี่ย จะดูน่ากลัว แต่ก็ยังมีความโชคดีอยู่นะครับ เพราะว่าโรคมะเร็งเต้านมเนี่ย สามารถตรวจพบง่าย ๆ ได้ ซึ่งสามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ ซึ่งทำให้ผลการรักษาดีมาก ๆ ครับวิธีตรวจมะเร็งเต้านม
- ตรวจด้วยตัวเอง หลังหมดประจำเดือน 7 -10 วัน อันนี้เริ่มมีเต้านมก็สามารถตรวจได้เลย วิธีการตรวจเต้านมด้วยตัวเอง เริ่มจากการดูก่อนนะครับ เข้าห้องน้ำส่องกระจกดูตัวเองก่อนเลยว่า เต้านมสองข้างเราเป็นยังไง เท่ากันไหม ให้ชูมือขึ้นเหนือศีรษะช้า ๆ นะครับ ดูว่ามีรอยบุ๋ม หรือมีรอยอะไรหรือเปล่า พอดูเสร็จแล้วก็เริ่มคลำ วิธีการคลำแบ่งออกเป็น 3 อย่าง นะครับ 1. คลำเต้านม 2.คลำหัวนม 3. คลำต่อมน้ำเหลือง จะคลำอย่างไรก็ได้ ขอให้คลำให้ทั่วก็พอ จะเป็นบนลงล่างก็ได้นะครับ จะเป็นในออกนอกก็ได้ จะวนเป็นก้นหอยก็ได้ แต่วิธีการทำก็ให้ชูนิ้ว 3 นิ้วอย่างหมอนะ ใช้ปลายนิ้วสัมผัสลงบนเต้านม ก็คลำโดยรอบ อันที่สอง คือว่า ตรวจบริเวณหัวนม ราวหัวนม ต้องดูว่ามีก้อนอยู่ข้างใต้หัวนมไหม และก็สีของลานหัวนม มีผิดปกติ มีแผลมีอะไรไหม และก็ดูด้วยว่ามีน้ำผิดปกติออกจากหัวนมไหม เราจะเอานิ้วอยู่ที่ลานหัวนมและก็กดเบา ๆ และก็บีบเบา ๆ นิดเดียว ถ้าเกิดว่ามีน้ำ ก็ให้สังเกตสีน้ำด้วยว่า น้ำออกมาเป็นสีอะไร ต่อมา คือการตรวจต่อมน้ำเหลือง โดยต่อมน้ำเหลืองบริเวณเต้านมจะอยู่ 2 ตำแหน่งหลัก ๆ ก็คือ รักแร้ กับไหปลาร้า อาจจะคลำเบา ๆ หรือคลึงเบา ๆ นะครับ ว่ามีอะไรผิดปกติไหม ถ้ามีก้อนมีอะไรผิดปกติ ให้รีบมาหาหมอก่อน
- มาให้แพทย์ตรวจ มาให้แพทย์ตรวจเนี่ย คือ ตรวจทุกปี
- ตรวจด้วยวิธี รังสีวินิจฉัย คือ ตรวจด้วยเครื่องแมมโมเเกรม และ/หรือ เครื่องอัลตราซาวนด์ อันนี้ก็ต้องตรวจทุกปี ซึ่ง 2 วิธีนี้ เป็นการตรวจที่แตกต่างกัน แมมโมเเกรม จะดีในการตรวจหินปูน อัลตราซาวนด์ จะดีในการตรวจว่าเป็นถุงน้ำหรือเป็นก้อนเนื้อ ดีกว่าแมมโมแกรมนะครับ เพราะฉะนั้น ถ้าให้หมอแนะนำเนี่ย แมมโมเเกรมและอัลตราซาวนด์ ควรตรวจร่วมกันถึงจะผลดีที่สุด
เจ้าหน้าที่สาธิตการตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม
"เดี๋ยวแผ่นกดเต้านมจะลงมากดนะคะ จะกดพอทนได้ ไม่ถึงกับเจ็บมาก นะคะ ถ้าเจ็บบอกนะคะ"
"คนไข้ยืนนิ่ง ๆ นะคะ กลั้นนิ่ง หยุดหายใจ ค่ะ "
"ท่าต่อไปนะคะ จะถ่ายท่าด้านข้างนะคะ ท่าด้านข้างจะดูต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ด้วย พยายามอย่าเกร็งนะคะ ถ้ายิ่งเกร็งกล้ามเนื้อจะยิ่งหด จะทำให้มองเห็นต่อมน้ำเหลืองได้น้อย นะคะ"
คำถามที่พบบ่อย
คำถามที่ถามบ่อย ๆ ก็คือว่า "พี่ไม่มีนมเลยจะบีบได้ไหม" หมออยากจะบอกว่า หน้าอกเล็ก หน้าอกใหญ่ สามารถตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรมได้เหมือนกัน ไม่ต้องห่วง นะครับ เราจะมีวิธีการดึงเนื้อเต้านมออกมาหนีบได้ หรือว่าสาว ๆ หลายท่านเคยเสริมเต้านมมา "มีซิลิโคนอยู่เนี่ย ทำแมมโมแกรมแล้วซิลิโคนจะแตกไหม" ไม่แตกนะครับ สามารถทำได้นะครับ เราจะมีเทคนิคที่สามารถหลบเนื้อซิลิโคน หลบเนื้อเต้านม แล้วสามารถทำแมมโมแกรมได้อย่างปลอดภัยเช่นเดียวกัน ครับ
อาการเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านม
- ขนาดเต้านมที่เปลี่ยนไป มีขนาดใหญ่ขึ้น บางคนอาจมีรอยแดง และผื่นรอบหัวนม บางคนอาจพบก้อนผิดปกติรอบ ๆ เต้านม มีการเปลี่ยนแปลงของผิว เช่น รอยย่น รอยบุ๋ม บางคนอาจมีของเหลวไหลออกจากหัวนม โดยไม่ได้บีบ หรืออาจพบอาการผิดปกติบริเวณรักแร้ และกระดูกไหปลาร้า
- หัวนมบุ๋ม หรือมีอาการเจ็บบริเวณหน้าออก หรือบริเวณรักแร้
การที่คลำใต้บริเวณหน้าอกเนี่ย บางทีอาจจะเป็นเนื้อเต้านมปกติก็ได้ หรือ อาจจะเป็นการอักเสบก็ได้ หรือ อาจจะเป็นก้อนเนื้อ ถุงน้ำ ที่ไม่ใช่มะเร็งก็ได้ นะครับ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าตรวจพบความผิดปกติ ชื่อก็บอกแล้วว่าผิดปกติ เพราะฉะนั้นต้องมาตรวจ ว่าเป็นผิดปกติแบบไหน ผิดปกติแบบไม่รุนแรง หรือผิดปกติแบบรุนแรงขั้นเป็นมะเร็ง นะครับ ไม่มีใครจะดูแลตัวเราเองได้ดีเท่ากับเรา ถูกไหมครับ เพราะฉะนั้น ถ้าเราพบการเปลี่ยนแปลงแล้วมาพบแพทย์ แปลว่า เราจะพบมะเร็งที่ระยะเริ่มต้น แปลว่า การรักษาก็จะดี ผลการรักษาก็จะดีด้วย ครับ
[ขอบคุณ อ.นพ.วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์ สำหรับข้อมูล ไว้ ณ ที่นี้ด้วย]
[ถอดคำบรรยายจากคลิปคุณหมอ โดย หยินหยาง]
[โปรดแชร์ บทความนี้ ให้กับคนที่คุณรักและเป็นห่วงที่สุดด้วย นะครับ]