วัณโรคโพรงจมูก น้องน้ำตาล
วัณโรคโพรงจมูกเกิดขึ้นได้น้อยในประเทศไทย แต่มีความร้ายแรง
“วัณโรคหลังโพรงจมูก” เกิดไม่บ่อย แต่หากไม่รู้ตัว อันตรายถึงชีวิต!!
บรรยายโดย :
รศ.นพ.ปรัญญา สากิยลักษณ์ แพทย์เจ้าของไข้ คุณน้ำตาล เดอะสตาร์
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจและวัณโรค
(คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล)
ที่มา : Mahidol Channel มหิดล แชนแนล
วัณโรคหลังโพรงจมูก หนึ่งในสาเหตุของอาการเลือดกำเดาไหลมากผิดปกติเป็นต้นเหตุที่ทำให้น้องน้ำตาลเสียชีวิต วัณโรคชนิดนี้พบได้น้อยมาก พบได้ไม่บ่อย และไม่แสดงอาการรุนแรงใด ๆ หากไม่รู้ตัว อันตรายถึงชีวิตได้เมื่อคุณน้ำตาลเสียชีวิต ผมก็ได้ให้แพทย์หู คอ จมูก ช่วยส่องกล้องไปดูที่หลังโพรงจมูก จึงได้หนีบเนื้อบริเวณนั้น เพื่อนำไปตรวจทางพยาธิวิทยา ก็พบว่ายังมีเลือดไหลตามมาเป็นจำนวนมาก จนนำพามาสู่การเสียชีวิตของคุณน้ำตาล หลังจากนั้น เราจึงได้ทำการตรวจแบบพิเศษ ทั้งที่ศิริราชและที่สถาบันพยาธิวิทยา วิธีการตรวจนั้นก็คือ PCR : Polymerase Chain Reaction (การเพิ่มสารพันธุกรรม(DNA) เพื่อการวินิจฉัยโรค) ผลก็ออกมาว่า มี DNA ของเชื้อวัณโรค ดังนั้น เราจึงสรุปว่า คุณน้ำตาลมีภาวะติดเชื้อวัณโรค ที่บริเวณหลังโพรงจมูก
วัณโรคเกิดจากอะไร
เชื้อวัณโรคเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ในภาษาทางการแพทย์ เราเรียกว่า Mycobacterium tuberculosis เชื้อวัณโรคแพร่กระจายจากคนสู่คน ทางละอองเสมหะ ซึ่งก็เกิดจากการที่คนคนหนึ่งเป็นวัณโรค ไอ จาม เปล่งเสียง หรือแม้แต่ร้องเพลง ทำให้เกิดละอองเสมหะล่องลอยอยู่ในอากาศ เมื่อเราสูดหายใจเอาละอองเสมหะ ที่มีเชื้อวัณโรคอยู่ เข้าไปในปอดของเรา ก็จะทำให้เราป่วยขึ้น แต่ไม่ได้ทุกคนที่เป็น เราพบแค่ประมาณ 10% ของคนที่ได้รับเชื้อวัณโรคไป จะเกิดวัณโรคเกิดขึ้น ซึ่งคนที่มีร่างกายไม่แข็งแรง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ มีโรคเรื้อรัง เช่น เป็นเบาหวาน ไตวายเรื้อรัง หรือคนที่เป็นภูมิคุ้มกันบกพร่องก็จะมีโอกาสติดเชื้อวัณโรค ได้ง่ายกว่าคนธรรมดา โดยที่ 80-85% ของคนที่ได้รับเชื้อวัณโรค เข้าไปที่ปอดนั้น ก็จะเกิดวัณโรคเฉพาะส่วนที่ปอด หรือเราเรียกว่า วัณโรคปอด สำหรับผู้ป่วยส่วนหนึ่ง คือประมาณ 15-20% เชื้อวัณโรคนั้นจะเล็ดลอดออกจากปอดของเขา เข้าไปตามระบบกระแสเลือด หรือระบบกระแสน้ำเหลือง ทำให้เกิดวัณโรค ในอวัยวะอื่น ๆ ได้ทั่วร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นวัณโรคเยื่อหุ้มสมอง
วัณโรคกระดูก วัณโรคหลังโพรงจมูก
เมื่อคนเราได้รับเชื้อวัณโรคเข้าไป จะมีผู้ป่วยเพียง 10% เท่านั้น ที่จะเกิดเป็นวัณโรคเกิดขึ้น แต่ใน 10% นั้น มันไม่ได้เกิดวัณโรคทันทีทันใด เชื้อวัณโรคมันสามารถหลบอยู่ในตัวเรา ได้เป็นปี ๆ เป็นสิบปีโดยที่ไม่ตาย และเมื่อมันพร้อม เชื้อมันแข็งแรงขึ้น หรือร่างกายเราอ่อนแอลง ภูมิต้านทานเราลดลง เชื้อวัณโรคก็จะแสดงอาการออกมา เพิ่มจำนวนขึ้นมา แล้วก็ทำให้ร่างกายเราเกิดโรคครับ
อาการของวัณโรคปอดและนอกปอด
ถ้าท่านมีอาการบ่งชี้ว่าอาจจะเป็นวัณโรคปอด เช่น ไอเกิน 2 สัปดาห์ มีเบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือมีไข้ไม่ทราบสาเหตุ ควรจะต้องรีบไปรับการตรวจหา ว่าเป็นวัณโรคหรือไม่โดยแพทย์ หรือ ถ้าท่านสงสัยว่าจะมีอาการของวัณโรคนอกปอด ยกตัวอย่างเช่น วัณโรคหลังโพรงจมูก หากท่านมีอาการคลำก้อนได้ที่คอ มีอาการจุกแน่น ระคายคอ เจ็บในคอเรื้อรัง เกิน 2 สัปดาห์ ควรจะรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาว่าเป็นวัณโรคหรือไม่การวินิจฉัยของวัณโรค
การวินิจฉัยของวัณโรคปอด ซึ่งอาศัยการเอกซเรย์ปอด การตรวจเสมหะ หาเชื้อวัณโรคได้ แต่ถ้าเป็นวัณโรคนอกปอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เราสนใจกันคือ วัณโรคหลังโพรงจมูก การวินิจฉัยจะยุ่งยาก เนื่องจากว่าแพทย์จะต้องทำการตรวจ แล้วก็ตัดชิ้นเนื้อบริเวณนั้น เพื่อไปตรวจหาเชื้อวัณโรค หรือหาลักษณะบางอย่าง ที่บ่งชี้ถึงการติดเชื้อวัณโรคเกิดขึ้นครับกรณีเลือดกำเดาไหลบ่อย ๆ จะมีโอกาสเป็นวัณโรคหลังโพรงจมูก ได้มากน้อยแค่ไหน
หลังจากกรณีคุณน้ำตาล เหล่าผู้ปกครองทั้งหลาย หรือแม้กระทั่งผู้ป่วยหลายราย กังวลว่าเป็นเลือดกำเดาไหลบ่อย จะมีโอกาสเกิดเหตุอย่างคุณน้ำตาลหรือไม่ ถ้าถามว่ามีโอกาสเกิดหรือไม่ คำตอบก็ต้อง มี แต่น้อยมาก อีกอย่างคือ เลือดกำเดาไหลนี่ จริง ๆ ที่เจอบ่อย มันจะเป็นไหลจาก โพรงจมูกส่วนหน้า ไม่ใช่ด้านหลังโพรงจมูก ที่เส้นเลือดมันเปราะบาง หรือว่าช่วงหน้าหนาว มันแห้ง แล้วมันก็แตก ซึ่งสังเกตว่า เราก็แค่ประคบตรงโคนจมูก บีบไว้หน่อย มันก็หยุด ดังนั้น ผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องกังวลขนาดนั้นวัณโรคหลังโพรงจมูกในประเทศไทยพบบ่อยแค่ไหน
ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปัจจุบัน มีรายงานคนไข้วัณโรคหลังโพรงจมูก 39 ราย โดยที่ทั้ง 39 ราย ไม่ได้มาด้วยอาการเฉพาะ ที่บ่งชี้ว่าเป็นวัณโรคหลังโพรงจมูก ส่วนใหญ่เจอเพราะคนไข้ไปด้วยเรื่องอื่น เช่น ต่อมน้ำเหลืองโต แล้วก็ตรวจร่างกาย แล้วสุดท้าย นำพามาสู่การส่องกล้อง ตัดตรวจชิ้นเนื้อ แล้วถึงพบว่าเป็นวัณโรคการรักษาวัณโรคมีกี่วิธี
การรักษาวัณโรคนั้น รักษาด้วยยาเป็นหลัก แต่สำหรับวัณโรคนอกปอดนั้น อาจจะมีการผ่าตัดช่วยการรักษาในบางกรณี เช่น อวัยวะนั้น ยาไม่สามารถเข้าไป ฆ่าเชื้อวัณโรคได้เต็มที่ดีพอ ก็จะอาศัยการผ่าตัดช่วย สำหรับยารักษาวัณโรคนั้น ต่างจากโรคติดเชื้อทั่ว ๆ ไป ซึ่งเรารักษากัน 5 วัน 7 วัน 14 วัน ก็เพียงพอ แต่เชื้อวัณโรคนั้นเป็นเชื้อที่ตายยาก ต้องการการรักษานาน ระยะเวลาที่สั้นที่สุด เท่าที่วิทยาการปัจจุบันเรามีนั้น คือต้องรักษานาน 6 เดือนนะครับ แล้วก็ต้องใช้ยาหลายชนิดร่วมกันแนวทางป้องกันจากวัณโรคทำได้อย่างไร
การป้องกันตัวเราเองให้เป็นวัณโรค ทำได้ยาก สิ่งที่สำคัญก็คือ การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีคุณค่า หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ที่มีโอกาส ที่จะรับเชื้อวัณโรคได้ง่าย ก็คือ สถานที่แออัด ระบบระบายอากาศไม่ดี เมื่อเรารักษาสุขภาพเราดีแล้ว เราก็ยังอาจจะเกิดวัณโรคเกิดขึ้นได้ ดังนั้น ถ้าท่านมีอาการบ่งชี้ว่า อาจจะเป็นวัณโรค ควรจะต้องรีบไปรับการตรวจหา ว่าเป็นวัณโรคหรือไม่ โดยแพทย์[ขอขอบคุณ รศ.นพ.ปรัญญา สากิยลักษณ์ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล อย่างสูง ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย]
[ถอดคำบรรยายจากคลิปคุณหมอ โดย หยินหยาง]
[โปรดแชร์ บทความนี้ ให้กับคนที่คุณรักและเป็นห่วงที่สุดด้วย นะครับ]
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ช่อง YouTube : Mahidol Channel : https://www.youtube.com/mahidolchannel
Facebook : https://www.facebook.com/mahidolchannel
Mahidol University มหาวิทยาลัยมหิดล : https://www.mahidol.ac.th/th
Website : https://www.mahidolchannel.com