ยาทาสเตียรอยด์สำหรับโรคผิวหนัง

การใช้ยาสเตียรอยด์อย่างไม่ถูกต้องอาจเกิดอันตรายรุนแรงได้


บทความโดย
รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอก (topical steroids) ที่รู้จักกันทั่วไปนั้น เป็นยาในกลุ่มคอร์ติโค สเตียรอยด์ (corticosteroids) ยาเหล่านี้เป็นสารสังเคราะห์จำพวกกลูโคคอร์ติคอยด์ (glucocorticoids) มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันและฤทธิ์อื่นๆ เหมือนกับคอร์ติซอล (cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตส่วนเปลือกนอก ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอกนี้มีบทบาทมากในการรักษาโรคผิวหนังที่มีอาการอักเสบและอาการคัน มีรูปแบบต่างๆ ให้เลือกใช้ เช่น ขี้ผึ้ง ครีม โลชั่น โดยยาในรูปแบบครีมใช้กันมากที่สุด

ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอกมีอะไรบ้าง?

ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอกสำหรับรักษาโรคผิวหนังมีมากมาย ตัวอย่าง เช่น
  • Betamethasone dipropionate (ขี้ผึ้ง ครีม)
  • Betamethasone valerate (ครีม โลชัน)
  • Clobetasol propionate (ขี้ผึ้ง ครีม โลชัน)
  • Desoximetasone (ครีม)
  • Hydrocortisone acetate (ครีม)
  • Mometasone furoate (ครีม)
  • Prednisolone (ครีม)
  • Triamcinolone acetonide (ครีม โลชัน)

ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอกมีความแตกต่างกันอย่างไร?

          ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอกมีความแรงแตกต่างกัน ความแรงของยาประเมินจากการออกฤทธิ์ที่ทำให้หลอดเลือดบีบตัวร่วมกับผลที่ได้จากการศึกษาเปรียบเทียบความแรงในทางคลินิก ซึ่งความแรงขึ้นกับปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ชนิดของตัวยาสำคัญ ชนิดของเกลือ (เอสเทอร์) ปริมาณยา และรูปแบบยา ตัวอย่างเช่น betamethasone มีความแรงมากกว่า hydrocortisone และ betamethasone ชนิดที่เป็นเกลือ dipropionate จะมีความแรงมากกว่าชนิดที่เป็นเกลือ valerate นอกจากนี้ยาในรูปแบบขี้ผึ้งจะช่วยปกคลุมผิวหนัง ลดการสูญเสียน้ำและเพิ่มการดูดซึมตัวยาสำคัญ แต่ยาประเภทขี้ผึ้งทำให้เหนอะหนะผิว ทาเป็นวงกระจายได้ยากและเป็นมันทำให้ล้างออกยาก ผู้ป่วยมักไม่ชอบ ในบรรดายาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอกตามที่ยกตัวอย่างข้างต้นนั้น hydrocortisone acetate จัดอยู่ในกลุ่มที่มีความแรงต่ำ ส่วนยาอื่นจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความแรงปานกลางจนถึงความแรงสูง

ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอกแทรกซึมผ่านผิวหนังได้มากน้อยเพียงใด?

          โดยทั่วไปแล้วเพื่อผลการรักษาที่ดีตัวยาควรแทรกซึมผ่านผิวหนังชั้นสตราตัมคอร์เนียม (stratum corneum) ซึ่งเป็นหนังกำพร้าชั้นนอกสุดได้ในระดับความเข้มข้นที่ให้ผลในการรักษา แต่ไม่ต้องการให้ถูกดูดซึมเข้าสู่ระบบของร่างกายเพื่อลดอาการไม่พึงประสงค์ของยา โครงสร้างของผิวหนังมีผลต่อการแทรกซึมและการดูดซึมยา การดูดซึมยาผ่านผิวหนังแต่ละแห่งไม่เท่ากัน เช่น การดูดซึมผ่านฝ่ามือหรือฝ่าเท้า (0.1–0.8%) แขนช่วงแรกบริเวณระหว่างข้อศอกกับข้อมือ (1%) ใบหน้า (10%) หนังศีรษะและตามซอกพับ (ราว 4%) เปลือกตาและถุงอัณฑะ (40%) เป็นต้น ด้วยเหตุนี้บริเวณที่มีการดูดซึมดีควรใช้ยาที่มีความแรงต่ำและควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีความแรงสูงรวมถึงพวกที่มีความแรงรองลงมาหากต้องใช้เป็นเวลานาน ส่วนบริเวณฝ่ามือหรือฝ่าเท้าจะใช้ยาที่มีความแรงสูง อย่างไรก็ตาม หากรอยโรคมีบริเวณกว้างควรใช้ยาที่มีความแรงลดลง เพื่อลดปริมาณยาที่ถูกดูดซึมเข้าระบบของร่างกาย

ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอกใช้กับโรคผิวหนังชนิดใด?

          ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอกนำมาใช้รักษาโรคผิวหนังที่มีอาการอักเสบและอาการคัน ตัวอย่างโรคหรือความผิดปกติที่ผิวหนังที่ให้การตอบสนองดีต่อยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอก เช่น โรคสะเก็ดเงิน (psoriasis) โรคผิวด่างขาว (vitiligo) โรคผิวหนังอักเสบออกผื่น (eczema) โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis) ซึ่งโรคผิวหนังที่ไวต่อยาจะใช้ยาชนิดที่มีความแรงต่ำ ส่วนพวกที่รักษายากจะใช้ยาชนิดที่มีความแรงสูงขึ้น สำหรับกรณีที่ใช้ยาไม่ได้ผลอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การวินิจฉัยโรคคลาดเคลื่อน การติดเชื้อแทรกซ้อน การใช้ยาไม่ถูกต้องรวมถึงการใช้ยาชนิดที่มีความแรงต่ำเกินไปหรือใช้ในขนาดน้อยเกิน ตลอดจนเกิดการแพ้ยาตรงบริเวณที่ทาจนอาจส่งผลให้โรคเป็นรุนแรงขึ้น

อาการไม่พึงประสงค์ของยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอก

          แม้ว่ายาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอกจะค่อนข้างปลอดภัยและไม่ค่อยพบปัญหาเรื่องการเกิดความชินต่อยาเมื่อใช้เป็นเวลานาน อย่างไรก็ตาม อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้หลายอย่างโดยเฉพาะเมื่อใช้ยาที่มีความแรงสูงและใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ส่วนใหญ่เป็นอาการที่เกิดเฉพาะที่ มีเป็นส่วนน้อยที่เกิดกับระบบภายในร่างกาย

อาการที่เกิดเฉพาะที่ เช่น

  • แพ้ยาตรงบริเวณที่สัมผัสยา อาจแพ้ต่อตัวยาสเตียรอยด์หรือสารอื่นในตำรับ
  • ทำให้แผลที่เป็นอยู่หายช้า
  • ยากดภูมิคุ้มกันได้ ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียและรา นอกจากนี้ยาอาจบดบังอาการติดเชื้อจนทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงในภายหลัง
  • ผิวหนังบริเวณที่ทายาบางลง มีเส้นเลือดฝอยขยาย ผิวแดง ร้อน มีริ้วลาย เหี่ยวลีบ ฟกช้ำง่าย อาจเกิดรอยแผลตรงเป็นบริเวณที่ทายา การทาบริเวณหน้าอาจเกิดผื่นแดงและตุ่มแดงคล้ายสิว นอกจากนี้อาจพบผิวด่างเนื่องจากการที่มีเม็ดสีน้อยลง
          อาการที่เกิดกับระบบภายในร่างกาย พบไม่บ่อย อาจพบเมื่อใช้ยาชนิดที่มีความแรงสูงและทาเป็นบริเวณกว้างหรือทาบริเวณผิวหนังเปิด หรือมีการปิดทับบริเวณที่ทา หรือการใช้ในโรคผิวหนังที่เป็นรุนแรง (ซึ่งทำให้ต้องใช้ยาที่มีความแรงสูงและใช้เป็นเวลานาน) เป็นต้น อาการที่พบ เช่น เกิดกลุ่มอาการคุชชิง (Cushing’s syndrome) ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ภาวะกดการทำงานของต่อมหมวกไต

ข้อแนะนำในการใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอก

การใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอกมีข้อควรคำนึงในการใช้ยาดังนี้
  1. ก่อนใช้ยาต้องมั่นใจว่าผิวหนังบริเวณนั้นไม่เป็นโรคติดเชื้อ
  2. ไม่ใช้เพื่อรักษาโรคหน้าแดง (rosacea) ปากแตก สิว โรคผิวหนังที่มีการติดเชื้อ
  3. ใช้เฉพาะกับโรคผิวหนังอักเสบที่ตอบสนองดีต่อยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอก
  4. ไม่ควรใช้ชนิดที่มีความแรงสูงกับผิวหนังที่บาง เช่น ใบหน้า เปลือกตา ซอกพับ อวัยวะเพศ และผิวทารก รวมถึงบริเวณผิวหนังเปิด เช่น ผิวถลอก เนื่องจากผิวที่บริเวณดังกล่าวจะมีการดูดซึมยาได้มากขึ้น
  5. ควรหลีกเลี่ยงการทายาแบบมีสิ่งปิดทับ เนื่องจากการทาแบบนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ที่มีความคุ้นเคยกับการให้ยาวิธีดังกล่าว
  6. ไม่ควรใช้ชนิดที่มีความแรงสูงต่อเนื่องเป็นเวลานาน
  7. ยาอาจกดการทำงานของต่อมหมวกไต หากใช้ชนิดที่มีความแรงสูงและใช้เป็นบริเวณกว้าง ดังนั้นจึงควรหยุดใช้ยาเป็นช่วงๆ โดยทั่วไปมักใช้ติดต่อกันไม่เกิน 2 สัปดาห์
  8. การใช้ยาที่มีความแรงสูงเป็นเวลานาน หากจะลดขนาดยาควรลดอย่างช้าๆ การลดขนาดยาเร็วเกินไปอาจทำให้โรคกำเริบ
  9. หลีกเลี่ยงการใช้ในสตรีมีครรภ์ หากจำเป็นต้องใช้ยาควรเลือกชนิดที่มีความแรงต่ำจนถึงความแรงปานกลางเท่านั้น และใช้เป็นเวลาสั้นๆ

การใช้ยาอย่างไม่ถูกต้อง

          มีการนำยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอกมาใช้อย่างไม่ถูกต้องกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากยาให้ประสิทธิผลในการทุเลาอาการได้ดีและเห็นผลเร็ว การนำมาใช้ไม่ตรงกับโรคที่เป็นอยู่จะทำให้ยาบัดบังอาการของโรค ทำให้โรคนั้นไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เป็นเหตุให้โรคลุกลามหรือเป็นมากขึ้นจนอาจเกิดอันตรายที่รุนแรงได้ จึงควรใช้ยาตามข้อแนะนำข้างต้น

เอกสารอ้างอิง
  1. นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์. ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอก (topical corticosteroids) สำหรับรักษาโรคผิวหนัง. สารคลังข้อมูลยา 2557; 16(1):24-34.
  2. Carlos G, Uribe P, Fern?ndez-Pe?as P. Rational use of topical corticosteroids. Aust Prescr 2013; 36:158-61.
  3. Chabassol A, Green P. Topical corticosteroid therapy: what you need to know. Can J Diagn 2012; 29:61-3.
  4. Chi C-C, Wang S-H, Kirtschig G. Safety of topical corticosteroids in pregnancy. JAMA Dermatol 2016; 152:934-5.
  5. Kwatra G, Mukhopadhyay S. Topical corticosteroids: pharmacology. In: Lahiri K, editor. A Treatise on Topical Corticosteroids in Dermatology. Singapore: Springer Nature Pte Ltd, 2018:11-22.

ที่มาบทความสามารถอ่านได้ที่นี่

[โปรดแชร์ บทความนี้ ให้กับคนที่คุณรักและเป็นห่วงที่สุดด้วย นะครับ]
Name

กระดูกและข้อ,9,การใช้สมุนไพร,13,เกร็ดความรู้สุขภาพ,28,ข้อมูลเกี่ยวกับโรค,83,คลินิกควบคุมน้ำหนัก,16,คลินิกจิตเวช,30,ช่วง Q&A,1,เตือนภัยสุขภาพคุณผู้หญิง,22,ประเด็นสุขภาพที่ควรรู้,130,พบหมอฟัน,1,ระบบสืบพันธุ์,1,รู้ทันโควิด 19-Covid-19,25,โรคความดัน,5,โรคไต,18,โรคเบาหวาน,4,โรคผิวหนัง,15,โรคระบบทางเดินอาหาร,1,เวชศาสตร์ชะลอวัย,22,สุขภาพตา,5,หูคอจมูก,5,อาหารและยา,72,
ltr
item
ไขปัญหาเรื่องสุขภาพ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง: ยาทาสเตียรอยด์สำหรับโรคผิวหนัง
ยาทาสเตียรอยด์สำหรับโรคผิวหนัง
การใช้ยาสเตียรอยด์อย่างไม่ถูกต้องอาจเกิดอันตรายรุนแรงได้
https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEhaGq51Od8RZEfLyqCQupovgn8MzgG5bHCyu7W5LGf-U4UDuO0Ny5dBbJgryAUNBzAeMJ6QRkkvkZuT17_7F3ZR8arP7_o82tFqdRHQb23Snpn4prhmexT648YrfllLFX3KRnqhljvY4m0/s320/%25E0%25B8%25A2%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%2597%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%25AA%25E0%25B9%2580%25E0%25B8%2595%25E0%25B8%25B5%25E0%25B8%25A2%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%25AD%25E0%25B8%25A2%25E0%25B8%2594%25E0%25B9%258C%25E0%25B8%25AA%25E0%25B8%25B3%25E0%25B8%25AB%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%25B1%25E0%25B8%259A%25E0%25B9%2582%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%2584%25E0%25B8%259C%25E0%25B8%25B4%25E0%25B8%25A7%25E0%25B8%25AB%25E0%25B8%2599%25E0%25B8%25B1%25E0%25B8%2587-%25E0%25B8%25A2%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%2597%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%25A0%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%25A2%25E0%25B8%2599%25E0%25B8%25AD%25E0%25B8%2581.jpg
https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEhaGq51Od8RZEfLyqCQupovgn8MzgG5bHCyu7W5LGf-U4UDuO0Ny5dBbJgryAUNBzAeMJ6QRkkvkZuT17_7F3ZR8arP7_o82tFqdRHQb23Snpn4prhmexT648YrfllLFX3KRnqhljvY4m0/s72-c/%25E0%25B8%25A2%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%2597%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%25AA%25E0%25B9%2580%25E0%25B8%2595%25E0%25B8%25B5%25E0%25B8%25A2%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%25AD%25E0%25B8%25A2%25E0%25B8%2594%25E0%25B9%258C%25E0%25B8%25AA%25E0%25B8%25B3%25E0%25B8%25AB%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%25B1%25E0%25B8%259A%25E0%25B9%2582%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%2584%25E0%25B8%259C%25E0%25B8%25B4%25E0%25B8%25A7%25E0%25B8%25AB%25E0%25B8%2599%25E0%25B8%25B1%25E0%25B8%2587-%25E0%25B8%25A2%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%2597%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%25A0%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%25A2%25E0%25B8%2599%25E0%25B8%25AD%25E0%25B8%2581.jpg
ไขปัญหาเรื่องสุขภาพ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
https://www.yinyang.in.th/2019/09/blog-post_15.html
https://www.yinyang.in.th/
https://www.yinyang.in.th/
https://www.yinyang.in.th/2019/09/blog-post_15.html
true
6588637073179937695
UTF-8
Loaded All Posts Not found any posts ดูทั้งหมด อ่านเพิ่มเติม Reply Cancel reply Delete By หน้าหลัก หน้า บทความ View All บทความแนะนำ หมวด ARCHIVE สืบค้น ALL POSTS ไม่พบข้อมูลที่คุณกำลังค้นหาค่ะ กลับสู่หน้าแรก Sunday Monday Tuesday Wednesday Thursday Friday Saturday Sun Mon Tue Wed Thu Fri Sat January February March April May June July August September October November December ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค. just now 1 minute ago $$1$$ minutes ago 1 hour ago $$1$$ hours ago Yesterday $$1$$ days ago $$1$$ weeks ago more than 5 weeks ago Followers Follow THIS PREMIUM CONTENT IS LOCKED STEP 1: Share to a social network STEP 2: Click the link on your social network Copy All Code Select All Code All codes were copied to your clipboard Can not copy the codes / texts, please press [CTRL]+[C] (or CMD+C with Mac) to copy