อาหารกระตุ้นไมเกรนและอาหารลดไมเกรน
บทความโดย
อ.เอกหทัย แซ่เตีย นักกำหนดอาหาร
ที่มา : HealthToday Magazine
ปกติผู้เขียนไม่เคยแนะนำอาหารสำหรับผู้ป่วยไมเกรนมาก่อน แต่เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมาได้มีโอกาสให้คำแนะนำหญิงวัยทำงานคนหนึ่ง อายุ 36 ปี จริงๆ แล้ววันนั้นเธอตั้งใจพาคุณแม่มาตรวจสุขภาพประจำปี ระหว่างรอจึงถือโอกาสตรวจสุขภาพตัวเองไปด้วยเลยเพราะเธอเองก็มีปัญหาปวดหัวไมเกรนอยู่จากการพูดคุยพบว่า เธอเป็นคนที่ใส่ใจสุขภาพของตนเองเพราะระมัดระวังเรื่องการกินอย่างมาก เช่น ไม่กินอาหารมันหรือทอด ไม่กินขนมหวาน ไม่ดื่มชา กาแฟ แอลกอฮอล์ แต่ดื่มน้ำอัดลมสูตรไม่มีน้ำตาล 1 กระป๋องต่อวัน และพยายามหลีกเลี่ยงการกินแป้ง ชอบกินผัก,ผลไม้ เลือกกินโปรตีนจากไข่ขาว,เนื้อปลาและเต้าหู้ กินอาหารวันละ 2 มื้อ ในปริมาณ 50% ของจานปกติตามร้านอาหารทั่วไป ไม่กินข้าวเย็น แต่จะกินสลัดผักใบหรือผลไม้แทน และดื่มนมบ้าง เมื่อถามถึงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้ปวดไมเกรน เธอบอกว่าไม่เคยสังเกตว่าอาหารจะทำให้มีอาการหรือไม่ แต่เมื่อใดที่เครียดจะมีอาการทุกครั้ง หากไม่กินยาจะปวดรุนแรงจนอาเจียนอยู่นานเกือบ 2 วัน ทุกครั้งเธอจึงต้องกินยาแก้ปวดไมเกรนอาการจึงจะทุเลาลง ผลการตรวจสุขภาพพบว่ามีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ พบสารคีโตน (ketone) ในปัสสาวะ มีเกล็ดเลือดต่ำ และตรวจพบภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก แพทย์จึงให้ผู้ป่วยกินนยาเม็ดเสริมธาตุเหล็ก 1 เม็ดต่อวัน
เนื่องจากความรู้ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุต้นเหตุของไมเกรนที่แท้จริงได้ แต่คาดว่าน่าจะมาจากการได้รับสิ่งกระตุ้นที่ทำให้ก้านสมองทำงานผิดปกติ หรือขาดความสมดุลของสารเคมีในสมอง หลอดเลือดจึงมีการหดและขยายตัวผิดปกติ ทำให้เซลล์ประสาทปล่อยความรู้สึกเจ็บปวดออกมา ทั้งนี้แนวทางในการรักษาบำบัดจึงมุ่งเน้นที่การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้เกิดไมเกรน เพื่อลดความถี่และความรุนแรงของอาการปวดหัว
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย
จากข้อมูลการกินพบว่า ผู้ป่วยรายนี้กินอาหารน้อยไป บวกกับมีการตรวจพบสารคีโตนในปัสสาวะ ซึ่งเป็นอีกสิ่งที่ยืนยันว่ากินไม่พอ ทำให้มีรูปร่างผอม เกล็ดเลือดต่ำ และโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก แต่ข้อดีของผู้ป่วย คือ ชอบกินผัก ผลไม้ และกินอาหารไขมันต่ำ ดังนั้นสิ่งที่ผู้ป่วยควรปรับในเรื่องของอาหารเพื่อบรรเทาอาการปวดหัวจากไมเกรนก็คือ■ เพิ่มพลังงานจากไขมันในรูปของพืชที่ให้น้ำมันแทนการใช้น้ำมันโดยตรง เช่น งาดำ, อะโวคาโด
■ เลือกกินผักสีเขียวเข้มและผักสีสันสดใส เพื่อเพิ่มธาตุเหล็กและสารต้านอนุมูลอิสระ
■ เติมถั่ว ธัญพืช เช่น เต้าหู้ ซึ่งอุดมไปด้วย แคลเซียม แมกนีเซียมที่ช่วยลดอาการไมเกรนทุกมื้อ
■ งดน้ำอัดลมสูตรไม่มีน้ำตาล เลือกน้ำผลไม้สูตรใยอาหารสูงแทน หรือเปลี่ยนเป็นน้ำเปล่า และเสริมการดูดซึมยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กโดยกินคู่กับผลไม้สดหรือน้ำผลไม้
อาหารกระตุ้นไมเกรน
ผู้ป่วยไมเกรนประมาณ 50% มีอาการปวดหัวลดลง หรือบางรายไม่มีอาการเลยหลังจากหลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นไมเกรน ข้อมูลจากวารสารของสมาคมโภชนาการแห่งสหรัฐอเมริกา (American nutrition association) ระบุว่าอาหารที่มีผลต่อการกระตุ้นให้เกิดไมเกรน มีดังนี้■ อาหารที่มีสารไทรามีน และแทนนิน สามารถกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารสื่อประสาท norepinephrine ทำให้ความดันโลหิตสูงอย่างเฉียบพลันและปวดหัวรุนแรงได้ในผู้ที่ไวต่อสารเหล่านี้ อาหารที่มีสารเหล่านี้ ได้แก่ อาหารที่ผ่านการหมักบ่ม แปรรูป เช่น เนย ชีส ช็อกโกแลต เนื้อสัตว์แปรรูป รมควัน ตับไก่ เบียร์ ไวน์แดง ผลไม้ตระกูลส้ม (Citrus fruits) น้ำแอปเปิล กล้วย อาหารหมักดองต่างๆ
■ เครื่องดื่มกาเฟอีน หากดื่มประมาณ 50 – 300 มิลลิกรัมต่อวัน (กาแฟร้อนไม่เกิน 2 แก้วต่อวัน) จะช่วยให้ร่างกายรู้สึกตื่นตัว แต่หากได้รับมากกว่า 300 มิลลิกรัม จะส่งผลให้หลอดเลือดในสมองมีการขยายตัวจนมีอาการกระสับกระสาย หงุดหงิดปวดหัวรุนแรงได้ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อคุณภาพในการนอนหลับทำให้ปวดหัวได้ในรายที่พักผ่อนไม่เพียงพอ
■ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ป่วยไมเกรนจำนวนมากไม่สามารถดื่มแอลกอฮอล์ได้แม้ปริมาณเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้เพราะในเครื่องดื่มเหล่านี้ โดยเฉพาะไวน์แดง เบียร์มีสารไทรามีนซึ่งอาจกระตุ้นให้ปวดหัวรุนแรงได้ภายใน 3 ชั่วโมง
■ อาหารที่มีสารไนเตรทและไนไตรท์ เมื่อกินเข้าไปแล้วจะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งไนตริกออกไซด์ทำให้หลอดเลือดขยายตัว ส่งผลให้ปวดหัว พบมากในเนื้อสัตว์แปรรูป รมควัน เช่น ไส้กรอก เบคอน แฮม ซาเซมิ กุนเชียง หมูยอ
■ วัตถุเจือปนในอาหาร ได้แก่ น้ำตาลเทียมกลุ่มแอสปาร์แตม ผงชูรส สารแต่งสีต่างๆ พบมีรายงานว่าผู้ป่วยบางรายมีอาการปวดหัวรุนแรงหลังได้รับสารเหล่านี้
อาหารบำบัดไมเกรน
นอกเหนือจากการใช้ยาและหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นแล้ว การเลือกกินอาหารที่ช่วยบรรเทาไมเกรนก็เป็นอีกสิ่งที่ช่วยให้ผู้ป่วยบอกลาไมเกรนได้ สำหรับอาหารที่ช่วยป้องกันและบำบัดอาการไมเกรนได้ มีดังนี้■ ข้าวแป้งไม่ขัดสี 6 – 8 ทัพพีต่อวัน เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ขนมปังโฮลวีต
■ เสริมอาหารหลักด้วยถั่ว ธัญพืช เป็นประจำ 4 – 5 ช้อน เช่น ขนมถั่วเขียว ถั่วแดงต้ม ถั่วแปบ แอลมอนด์ ถั่วคั่วต่างๆ
■ ผักสีเขียวเข้มและหลากสี 2 -3 ทัพพีต่อมื้อ เช่น คะน้า บรอกโคลี ผักโขม ถั่วฝักยาว เห็ดฟาง พริกหวาน ใบกะเพรา ใบแมงลัก อโวคาโด เป็นต้น อาหารที่อุดมไปด้วยแมกนีเซียม แคลเซียม ธาตุเหล็ก และมีวิตามินบีรวมสูงๆ จะช่วยเพิ่มระดับสารเซโรโทนินช่วยให้การทำงานของเซลล์ประสาทสมดุลขึ้นมีผลให้อาการปวดหัวทุเลาลง
■ ปลาทะเล อย่างน้อย 3 – 4 ครั้งต่อสัปดาห์ สลับกับการกินเต้าหู้ถั่วเหลือง ฟองเต้าหู้
■ น้ำมันดี แต่เพียงเล็กน้อย เน้นกลุ่มโอเมก้า 3 เป็นหลัก เช่น งาดำ น้ำมันงา น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก และบริโภคไขมันอื่นๆลดลง
■ เสริมสารต้านอนุมูลอิสระจากผลไม้ 4 – 5 จานเล็กๆ สารต้านอนุมูลอิสระจะช่วยลดกระบวนการอักเสบช่วยให้หลอดเลือดมีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น
■ ดื่มน้ำเต้าหู้หรือนมถั่วเหลือง เพื่อเสริมแคลเซียมแทนการดื่มนม 2 – 3 แก้วต่อวัน
■ ดื่มน้ำให้เพียงพอ ประมาณ 8 – 10 แก้วต่อวัน
นอกจากการหลีกเลี่ยงอาหารกระตุ้นไมเกรน และกินอาหารลดไมเกรนตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญข้างต้นแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ห้ามละเลย คือ การกินอาหารให้ตรงเวลา ไม่ปล่อยให้หิวหรือมีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ เพราะจากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยไมเกรนจะมีโอกาสปวดหัวถึง 50% หากปล่อยให้ท้องว่างนานเกิน 16 ชั่วโมง ที่สำคัญผู้ป่วยควรหมั่นดูแลสุขภาพ โดยออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอร่วมกับการกำจัดความเครียดอย่างเหมาะสม เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้เราห่างไกลจากอาการปวดหัวไมเกรนอย่างแน่นอนค่ะ
Resource : HealthToday Magazine, No.181 May 2016
แหล่งที่มา : อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่
[โปรดแชร์ บทความนี้ ให้กับคนที่คุณรักและเป็นห่วงที่สุดด้วย นะครับ]