การรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบันก้าวหน้าไปมากโอกาสหายมีสูง
บทความโดย
นพ. มาวิน วงศ์สายสุวรรณ
ศัลยศาสตร์, ศัลยศาสตร์ทั่วไป
ศัลยศาสตร์, ศัลยศาสตร์ (Breast Clinic)
ศัลยศาสตร์, ศัลยศาสตร์หลอดเลือด
ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ สาเหตุสำคัญมาจากการกินอาหารที่เกินพอดี กินอาหารไขมันสูง ใช้ฮอร์โมนทดแทน ขาดการออกกำลังกาย ไม่มีบุตรหรือมีบุตรช้า พันธุกรรม และมลพิษจากสิ่งแวดล้อม ถึงแม้ว่าวิทยาการการรักษาโรคมะเร็งเต้านมในเมืองไทยจะก้าวหน้าไปมาก แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นอุปสรรคของการรักษาก็คือ ความเข้าใจผิดของผู้ป่วยที่คิดว่าต้องตัดเต้านมทิ้ง จึงไม่มารับการรักษา ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วหากผู้ป่วยมารับการรักษาตั้งแต่เริ่มแรกจะมีโอกาสหายขาดสูงถึงร้อยละ 90 โดยไม่ต้องตัดเต้านมทิ้ง
รู้หรือไม่…
ประมาณร้อยละ 90 ของผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านมมีสาเหตุจากการมารับการรักษาช้าเกินไปจนมะเร็งลุกลามไปมากแล้ว ผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า “ไม่รู้ว่าความผิดปกติที่เกิดขึ้นเป็นสัญญาณของมะเร็งเต้านม” บ้างก็ “ไม่คิดว่าเป็นมะเร็ง” จึงปล่อยทิ้งไว้ ไม่มาพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆดังนั้นหากคลำได้ก้อนที่เต้านม มีเลือดออกที่หัวนม มีแผลหรือผื่นที่มีลักษณะผิดปกติเกิดขึ้นบริเวณเต้านมให้รีบมาพบแพทย์ทันที
นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยบางส่วนที่กลัวการรักษา เช่น กลัวผลข้างเคียงจากการให้เคมีบำบัด หรือเข้าใจผิดคิดว่าการรักษาจำเป็นต้องตัดเต้านมทิ้งเท่านั้น จึงหันไปหาการรักษาทางเลือก เช่น ไปรักษากับหมอผี หมอเถื่อน กินยาหม้อยาต้ม ซึ่งไม่ใช่วิธีการรักษามาตรฐาน ส่งผลให้อาการแย่ลงกว่าเดิม ผู้ให้การรักษาหลายรายเข้าข่ายหลอกลวง ทำให้ผู้ป่วยต้องสูญเสียเงินไปเป็นจำนวนมาก
ความจริงคือ ปัจจุบันแพทย์สามารถทำการผ่าตัดแบบสงวนเต้านมให้กับผู้ป่วยได้ มีผู้ป่วยเพียงร้อยละ 5 – 10 เท่านั้นที่ต้องตัดเต้านมทิ้งเนื่องจากมาพบแพทย์ช้าเกินไป นอกจากความก้าวหน้าด้านการผ่าตัด ยาที่ใช้ในการรักษามะเร็งเต้านมแต่ละชนิดก็ได้รับการค้นคว้าพัฒนาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ทำให้สามารถรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้จำเพาะมากขึ้น มีประสิทธิภาพสูง และอาการข้างเคียงต่ำ ซึ่งมะเร็งเต้านมที่ตรวจพบโดยทั่วไปแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
- กลุ่มที่ตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศหญิง เป็นชนิดที่พบมากที่สุด ในประเทศไทยพบประมาณร้อยละ 55 ของจำนวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้งหมด มะเร็งกลุ่มนี้จะเจริญเติบโตมากขึ้นเมื่อได้รับการกระตุ้นจากฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน การรักษาจึงมุ่งเน้นที่การยับยั้งการเจริญเติบโตของฮอร์โมน เช่น การใช้ยาต้านฮอร์โมน ปัจจุบันยากลุ่มนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นมาอย่างหลากหลาย ประสิทธิภาพในการรักษาเป็นที่น่าพอใจ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ตอบสนองต่อยาได้ดี ส่งผลให้ก้อนมะเร็งมีขนาดลดลงชัดเจน ยาบางตัวสามารถนำมาใช้ในการป้องกันมะเร็งเต้านมได้ แต่ปัจจุบันใช้เฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเท่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ นอกจากนั้นปัจจุบันยังมีการใช้ยาต้านฮอร์โมน ร่วมกับยาที่ออกฤทธิ์แบบเฉพาะเจาะจง ช่วยให้เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและยืดระยะการลุกลามของโรคได้อีกด้วย
- กลุ่มเฮอร์ทู (HER2) เกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนเฮอร์ทู มะเร็งกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะลุกลามอย่างรวดเร็ว โรคมีความรุนแรง และดื้อยาได้ง่าย อย่างไรก็ตามเซลล์มะเร็งดังกล่าวมักตอบสนองได้ดีต่อยาต้านเฮอร์ทู ช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้นแม้โรคอยู่ในภาวะแพร่กระจาย มีภาวะแทรกซ้อนน้อย ในประเทศไทยพบผู้ป่วยมะเร็งชนิดนี้ประมาณ 1 ใน 3 ในขณะที่ต่างประเทศพบประมาณร้อยละ 20
- กลุ่มทริปเปิลเนกาทีฟ (Triple Negative) เป็นกลุ่มที่มีความรุนแรงมากกว่ามะเร็งเต้านมทั่วไป มีการแพร่กระจายสูง ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมนและยาต้านเฮอร์ทู แต่ตอบสนองต่อยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยมีโอกาสหายได้ ในประเทศไทยพบผู้ป่วยกลุ่มนี้ประมาณร้อยละ 10
เอกสารอ้างอิง
Resource: HealthToday Magazine, No.197 September 2017
https://www.healthtodaythailand.in.th/มะเร็งเต้านมหายได้/
ภาพประกอบ
https://www.health.com/condition/breast-cancer
[โปรดแชร์ บทความนี้ ให้กับคนที่คุณรักและเป็นห่วงที่สุดด้วย นะครับ]