ประเภท สาเหตุ อาการ เกณฑ์วินิจฉัยโรคข้อเสื่อม
บทความโดย
นาวาอากาศตรีหญิง พญ. ปูชนิยะดา วิเชียรธรรม
ผศ.นพ. กิตติ โตเต็มโชคชัยการ
อายุรแพทย์สาขาโรคข้อและรูมาติสซั่ม
โรคข้อเสื่อมจัดเป็นโรคข้อเรื้อรังชนิดหนึ่ง เกิดจากความเสื่อมของร่างกายทำให้เกิดความไม่สมดุลในการสร้าง การทำลายและการซ่อมแซมภายในข้อ เกิดการทำลายกระดูกอ่อนผิวข้ออย่างช้าๆทำให้ผิวกระดูกอ่อนสึกกร่อน กระดูกใต้กระดูกอ่อนหนาตัวเกิดกระดูกงอกทั้งตรงกลางและริมกระดูก และเยื่อบุผิวข้อสร้างน้ำไขข้อลดลงผลจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้ข้อฝืด ใช้งานข้อไม่คล่อง มีเสียงดังในข้อปวดหรือเสียวในข้อโดยเฉพาะเวลาเคลื่อนไหวหรือใช้งานข้อมากกว่าปกติโรคข้อเสื่อมเป็นโรคข้อที่บ่อยที่สุดโดยเฉพาะผู้หญิงตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป และผู้ชายอายุตั้งแต่ 80 ปีเป็นโรคที่ก่อให้เกิดความพิการทั้งทางตรงและทางอ้อมจึงเป็นโรคที่สำคัญทางสาธารณสุขมากที่สุดโรคหนึ่ง1,2
ประเภทของข้อเสื่อม
โรคข้อเสื่อมแบ่งเป็น 2 ประเภทตามสาเหตุและปัจจัยเสริม ได้แก่ข้อเสื่อมชนิดปฐมภูมิ (primary) คือไม่สามารถระบุสาเหตุหรือปัจจัยเสริมได้ชัดเจนและเป็นประเภทที่พบบ่อยที่สุด ส่วนข้อเสื่อมชนิดทุติยภูมิ (secondary) เกิดจากสาเหตุทางเมตาบอลิก เช่นโรคเก๊าท์เทียม ข้อเสื่อมจากการบาดเจ็บและข้อเสื่อมจากโรคข้อเรื้อรังเช่นข้ออักเสบรูมาตอยด์อย่างไรก็ตามโรคข้อเสื่อมทั้งสองประเภทนี้จะมีอาการและอาการแสดงที่คล้ายคลึงกันสาเหตุของโรค โรคข้อเสื่อมเกิดจากหลายสาเหตุ ดังนี้
1. ปัจจัยทั่วไป (constitutional factors) เช่น พันธุกรรม เพศ อายุที่มากขึ้น น้ำหนักตัว- เพศ เพศหญิงมีโอกาสเกิดข้อเสื่อมมากกว่าเพศชายถึง 2 เท่า โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปหรือช่วงวัยหมดประจำเดือนเนื่องจากขาดฮอร์โมนเพศเอสโตรเจน (estrogen) ส่งผลให้เซลล์กระดูกอ่อนที่มีตัวจับกับฮอร์โมนเพศหญิงทำงานน้อยลงทำให้การสร้างโปรติโอไกลแคน (proteoglycan) ที่ใช้ซ่อมแซมเซลล์กระดูกอ่อนลดลงอย่างไรก็ตามพบว่าหญิงวัยหมดประจำเดือนที่ได้รับยาฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนจะช่วยลดโอกาสเกิดข้อเข่าและข้อสะโพกเสื่อมได้3
- อายุ โดยพบว่ามากกว่าร้อยละ 80 ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 75 ปีจะเป็นโรคข้อเสื่อมถ้านำผู้สูงอายุกลุ่มดังกล่าวมาถ่ายภาพเอกซเรย์ก็จะพบข้อเสื่อมทุกรายแต่จะมีอาการหรือไม่นั้นก็ขึ้นกับปัจจัยอื่นอีกทั้งนี้จากการศึกษาพบว่าเมื่ออายุมากขึ้นการตอบสนองต่อสารกระตุ้นการเจริญเติบโต (growth factor) จะลดลง การสังเคราะห์โปรติโอไกลแคนไม่สมบูรณ์มีโปรตีนเชื่อมต่อน้อยลงนอกจากนี้อายุที่มากขึ้นยังทำให้เซลล์กระดูกหมดอายุขัยเร็วขึ้นรวมถึงการสร้างและการซ่อมแซมเซลล์กระดูกอ่อน (chondrocyte) ลดลง
- ความอ้วน บุคคลที่มีน้ำหนักมากหรือมีค่าดัชนีมวลกาย (body mass index, BMI) สูงกว่าปกติจะมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคข้อเข่าเสื่อมเพิ่มขึ้นเนื่องจากข้อเข่าเป็นจุดรับน้ำหนักของร่างกายเมื่อน้ำหนักเพิ่มขึ้นแรงที่กดลงบนผิวข้อก็จะเพิ่มขึ้นและเนื่องจากข้อเข่าเป็นข้อที่ใช้ในการทรงตัวมากที่สุดดังนั้นเมื่อใช้งานข้อเข่าอย่างหนักเช่นขึ้นลงบันไดมาก แบกของหนักจะยิ่งเพิ่มแรงกดลงที่ข้อเข่านอกจากนี้น้ำหนักที่มากเกินไปยังมีผลต่อท่าทางการเดินทำให้เข่าโก่งออกทำให้เวลาเดินจะเจ็บข้อเข่าด้านในได้
- ตำแหน่งของข้อ มีผลอย่างมากเนื่องจากเป็นบริเวณที่ต้องรับน้ำหนัก เช่นข้อเข่า ข้อเท้า ข้อนิ้วหัวแม่เท้า ข้อสะโพกแต่ละข้อมีเอนไซม์และการตอบสนองต่อการอักเสบต่างกันสารที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบที่สำคัญคือสารไซโตไคน์ (cytokine) โดยพบว่าที่เซลล์กระดูกอ่อนข้อเข่ามีตัวรับไซโตไคน์ ชนิดอินเตอร์ลิวคิน 1 (interleukine 1, IL- 1) และเอนไซม์ MMP-8 มากกว่าที่ข้อเท้าดังนั้นข้อเข่าจึงมีโอกาสเสื่อมมากกว่าที่ข้อเท้า
- การบาดเจ็บ เป็นจุดเริ่มต้นของข้อเสื่อมโดยอาจเริ่มจากบาดเจ็บเล็กน้อยและซ้ำซากซึ่งใช้ระยะเวลานานพอสมควรกว่าจะกลายเป็นข้อเสื่อมการบาดเจ็บทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงภายในข้อลดลงทำให้สารอาหารถูกดูดซึมเข้ามาใช้ซ่อมแซมลดลง นอกจากนี้อาจเกิดรอยร้าวเล็กๆ (microfracture) บริเวณรอยต่อระหว่างกระดูกกับกระดูกอ่อนและมีหินปูนมาจับบริเวณรอยต่อดังกล่าว (subchondral bone sclerosis หรือ spur หรือ osteophyte) นอกจากนี้อาจพบโพรงน้ำภายในกระดูกที่อยู่ใต้กระดูกอ่อน (subchondral bone cyst) สิ่งเหล่านี้ทำให้ความยืดหยุ่นของข้อลดลง รับแรงกระแทกได้น้อยลงเมื่อเป็นเรื้อรังจะทำให้โครงสร้างของข้อผิดรูปไปจากปกติและทำให้เกิดอาการปวด รวมถึงมีปัญหาในการใช้งานข้อนั้นๆ
อาการและอาการแสดงของโรคข้อเข่าเสื่อม
อาการโดยร่วมของโรคข้อเข้าเสื่อม ได้แก่ อาการบวมปวด ฝืดตึงข้อตอนเช้าปวดเสียดในข้อ อาจได้ยินหรือรู้สึกกุบกับภายในข้อมักมีอาการมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวหรือหลังการใช้งานข้อมากขึ้นอาการปวดมักดีขึ้นหลังหยุดใช้งานแต่ในรายที่เป็นมากแม้ว่าจะหยุดใช้งานข้อดังกล่าวแล้วอาการปวดอาจคงอยู่ได้หลายชั่วโมง รายที่มีอาการอักเสบบ่อยผิวข้อจะแคบลงโดยเห็นได้จากภาพเอกซเรย์ และทำให้ข้อผิดรูป เช่นเข่าโก่งจนทำให้ใช้งานข้อนั้นได้ไม่เหมือนปกติอย่างไรก็ตามผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการแตกต่างกันขึ้นกับสาเหตุที่ทำให้เกิดข้อเสื่อมด้วย เช่นการบาดเจ็บจากเล่นกีฬาการที่เคยเป็นโรคข้ออักเสบอื่นมาก่อ เช่นข้ออักเสบจากผลึกเกลือข้ออักเสบรูมาตอยด์ บางรายเกิดจากการใช้งานมากเกินไปหรือใช้งานผิดประเภทนอกจากนี้ปัจจัยส่วนบุคคลเช่น เพศ อายุ น้ำหนักตัวความแข็งแรงของระบบกล้ามเนื้อเส้นเอ้นที่พยุงข้อก็มีผลให้อาการและความรุนแรงในแต่ละคนไม่เท่ากันแพทย์สามารถตรวจข้อของผู้ป่วยเพื่อยืนยันการวินิจฉัยและประเมินระดับความรุนแรง รวมถึงการวินิจฉัยแยกโรคข้ออักเสบเรื้อรังอื่นการตรวจพบว่าข้อบวมใหญ่ขึ้น มีน้ำในข้อกระดูกหรือข้อผิดรูปเช่นลักษณะโก่งเข้า (varus) หรือโก่งออก (valgus) ซึ่งพบบ่อยที่ข้อเข่า รองลงมาคือข้อนิ้วมือ (Heberden’s& Bouchard’s node) และข้อต่อบริเวณฐานของข้อนิ้วหัวแม่มือ (carpometacarpal joint) ข้อสะโพก ข้อนิ้วโป้งเท้า ข้อกระดูกสันหลังและกระดูกคอนอกจากอาการดังกล่าวข้างต้นแล้วบางครั้งเมื่อขยับหรือกดที่ข้อจะรู้สึกเจ็บปวดได้ อาจได้ยินเสียงกุบกับ (crepitus) และสัมผัสได้ว่าผิวข้อเสียดสีกันบางครั้งตรวจได้ว่าเอ็นหรือกล้ามเนื้อรอบข้อ มีความตึงเกร็งหรือบางรายอาจจะหย่อนกว่าปกติ
เกณฑ์การวินิจฉัยโรคข้อเสื่อม
โดยทั่วไป เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดข้อหลังจากซักประวัติและตรวจร่างกายแล้ว มักให้การวินิจฉัยได้หากแต่มีบางกรณีที่อาการก้ำกึ่ง หรือจากประวัติและการตรวจร่างกายไม่แน่ชัดการตรวจทางห้องปฏิบัติการและภาพฉายรังสีจะช่วยในการวินิจฉัยมากขึ้นโดยเมื่อสงสัยโรคข้อเสื่อมการตรวจทางห้องปฏิบัติการของโรคข้อเสื่อมจะมีลักษณะ ดังนี้
- ผลเลือดแสดงค่าการอักเสบ (ESR) น้อยกว่า 40 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง
- ผลเลือดไม่พบสารรูมาตอยด์ (Rheumatoid factor หรือ RF) หรืออาจพบในระดับต่ำ (RF < 1:40) และไม่พบสารภูมิคุ้มกัน ANA
- กรวดน้ำไขข้อไม่พบเซลล์การอักเสบ หรืออาจพบเม็ดเลือดขาวไม่เกิน 2,000 ตัวต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร
- ช่องข้อแคบลง (narrowing of joint space) เนื่องจากการกร่อนทำลายผิวข้อ
- พบแถบขาวบริเวณกระดูกที่อยู่ใต้กระดูกอ่อนหนาตัวขึ้น (subchondral bony sclerosis) และพบกระดูกงอก
- พบโพรงน้ำภายในกระดูก (bone cysts) และพบการทรุดตัวของกระดูกที่อยู่ใต้กระดูกอ่อน (bony collapse)
- พบรูปร่างของข้อผิดรูปอย่างชัดเจน
เกณฑ์วินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อม
เกณฑ์การวินิจฉัยของสมาคมโรคข้อและรูมาติสซั่มแห่งภาคพื้นยุโรปพิจารณาจาก ปัจจัยเสี่ยง อาการและอาการแสดงร่วมกับภาพผิดปกติที่ตรวจพบจากภาพเอกซเรย์- ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ เพศหญิง อายุมาก น้ำหนักเกินมีการบาดเจ็บที่ข้อมาก่อน มีข้อผิดรูปตั้งแต่เกิดหรือข้อผิดรูป ภายหลังเอ็นรอบข้อหรือข้อต่อไม่แข็งแรง อาชีพที่ต้องใช้งานข้อมากผิดปกติประวัติโรคข้อเสื่อมภายในครอบครัวและตรวจพบปุ่มกระดูกบริเวณข้อต่อของข้อนิ้วส่วนปลาย
- อาการ ได้แก่ อาการปวดเมื่อขยับข้อ ข้อฝืดตึงตอนเช้า
- อาการแสดง ได้แก่ มีเสียงดังกุบกับในข้อการเคลื่อนไหวของข้อน้อยลงหรือจำกัดองศาการเคลื่อนไหว และคลำพบกระดูกงอกถ้ามีอาการและอาการแสดงอย่างน้อย 3 อย่างสามารถใช้วินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อมได้แม่นยำถึงร้อยละ 99 แม้ว่าผลภาพเอกซเรย์จะปกติ
- ภาพภ่ายเอกซเรย์ ตรวจพบว่าผิวข้อแคบลงและช่องแคบไม่สม่ำเสมอ หรือพบภาพกระดูกงอกและมีการกร่อนของกระดูกใต้กระดูกอ่อน
- การวินิจฉัยแยกโรค โรคข้อเสื่อมต้องวินิจฉัยแยกจากโรคข้ออักเสบจากผลึกเกลือ ข้ออักเสบรูมาตอยด์และโรคข้อสันหลังอักเสบ
เอกสารอ้างอิง
http://www.bangkokhealth.com/health/article/โรคข้อเสื่อม-Osteoarthritis-โดย-ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ-813
https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/osteoarthritis/symptoms-causes/syc-20351925