จะรู้อย่างไรว่าขาดวิตามินอี (Vitamin E)
บทความโดย
นศภ. ทศพล จันทร์ดี
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
หนึ่งในวิตามินที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นพระเอกที่ช่วยปกป้องร่างกาย คงหนีไม่พ้น “วิตามินอี” ซึ่งจากความน่าสนใจในประโยชน์ต่างๆ ดึงดูดให้ผู้บริโภคหลายๆ คนใช้วิตามินอี โดยลืมคำนึงถึงความจำเป็นที่ควรจะได้รับหรือโทษที่อาจเกิดขึ้นเมื่อได้รับมาจนเกินความต้องการของร่างกาย บทความนี้จึงต้องการให้ความรู้กับผู้บริโภค เพื่อให้เข้าใจถึงความจำเป็นในการใช้ประโยชน์ และโทษต่างๆ ของวิตามินอีมากยิ่งขึ้น
วิตามินอี สำคัญอย่างไร ?
วิตามินอี หรือ โทโคเฟอรอล (Tocopherol) เป็นวิตามินที่ละลายได้ดีในไขมัน จัดเป็นหนึ่งในวิตามินที่สำคัญที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับ โดยวิตามินอีจะช่วยป้องกันการแตกของเม็ดเลือดแดง ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดและการอุดตันของเส้นเลือด ลดการเกิดกระบวนการอักเสบในร่างกายที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคต่างๆ และยังมีฤทธิ์อื่นๆ อีกมากมาย มีหน้าที่เบื้องต้นเสมือนฟองน้ำที่คอยดูดซับอนุมูลอิสระซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เซลล์หรือเนื้อเยื่อถูกทำลาย หรือที่รู้จักกันในชื่อของ “สารต้านอนุมูลอิสระ”เราจะรับ วิตามินอี ได้จากที่ใดได้บ้าง ?
อาหารที่สำคัญซึ่งมีวิตามินอีมาก ได้แก่ พืชผัก ผลไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่จะเจริญเป็นต้นใหม่ (germ) เมล็ดพืช หรือ ธัญพืช แต่ก็พบว่าออกซิเจนและความร้อนสามารถทำลายวิตามินอีได้ รวมไปถึงการแช่แข็งเป็นเวลานาน ก็ทำให้เกิดการสูญเสียวิตามินอีได้เช่นกัน ดังนั้นการบริโภคผักหรือผลไม้สดจะช่วยเพิ่มปริมาณวิตามินอีที่ร่างกายได้รับได้ นอกจากนี้ยังพบว่าน้ำนมมารดา โดยเฉพาะน้ำนมมารดาหลังคลอด (colostrum) ก็เป็นอีกแหล่งหนึ่งที่ให้วิตามินอีในปริมาณที่สูงมากเช่นกันจะทราบได้อย่างไร เมื่อร่างกายขาด วิตามินอี ?
โดยปกติจะไม่พบการขาดวิตามินอีจากการขาดสารอาหาร แต่มักพบจากความผิดปกติในการดูดซึมไขมัน เช่น การทำงานของตับ ตับอ่อน และลำไส้ผิดปกติ หรือมีโรคทางพันธุกรรม เช่น โรคที่มีอาการผิดปกติของระบบประสาท (เดินเซ) ร่วมกับการขาดวิตามินอี (ataxia with vitamin E deficiency) นอกจากนี้ยังพบการขาดวิตามินอีได้ในทารกคลอดก่อนกำหนดหรือน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ผู้ที่มีพังผืดจับในถุงน้ำดี (cystic fibrosis) รวมทั้งในผู้ที่ขาดเอนไซม์ กลูโคส-6-ฟอสเฟต ดีไฮโดรจีเนส (G-6-PD) ทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตกได้ ซึ่งการขาดวิตามินอี ต้องใช้ระยะเวลานานจึงจะเริ่มมีสัญญาณการเกิดความเสียหายของระบบประสาทปรากฏขึ้น เช่น สูญเสียการรับสัมผัสและการตอบสนองต่อสิ่งเร้า สูญเสียความรู้สึกทางกาย กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีปัญหาเรื่องการกลอกตาและทรงตัวได้ยาก เป็นต้น ดังนั้นในผู้ที่ขาดวิตามินอีจึงควรได้รับการแก้ไข เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายเกิดความเสียหายดังกล่าวจะเป็นอย่างไร เมื่อร่างกายได้รับ วิตามินอี มากเกินไป?
โดยปกติร่างกายจะรับปริมาณวิตามินอีขนาดสูงได้ดี แต่อาจพบอาการท้องอืด อาเจียน ท้องร่วง ท้องเสีย ปวดท้อง ปวดหัว ตาพร่า อ่อนเพลีย เมื่อยล้า ได้บ้างในบางราย รวมถึงอาจพบอาการเลือดไหลไม่หยุดในผู้ที่ขาดวิตามินเค และในผู้ที่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ แต่โดยส่วนมากแล้ว ถ้าได้รับในขนาดไม่เกินวันละ 800 IU จะมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคที่ไม่มีความผิดปกติใดๆ ส่วนวิตามินอีในรูปที่ปรากฏอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับทาผิว อาจพบอาการแพ้ทางผิวหนังจากการสัมผัส (contact dermatitis) ได้ในบางรายประโยชน์ของ วิตามินอี ที่นำมาใช้ในปัจจุบันมีอะไรบ้าง ?
อย่างแรก คือ ยา นอกเหนือจากบทบาทการเป็นวิตามินผู้ปกป้องร่างกายแล้ว วิตามินอียังมีบทบาทในการเป็นยารักษาโรค โดยทางด้านการแพทย์ จะใช้รักษาโรคโลหิตจางในทารกแรกคลอดเนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตก ใช้รักษาโรคขาดสารอาหาร ใช้รักษาอาการปวดกล้ามเนื้อขาเวลาเดิน และใช้สำหรับต้านทานต่อโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ อีกมากมายอย่างที่สอง คือ เครื่องสำอาง วิตามินอีเป็นวิตามินที่มีการนำมาใช้มากชนิดหนึ่งในเครื่องสำอางสำหรับผิว โดยใช้เป็นสารกันหืน ใช้เป็นสารให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว ใช้ผสมในครีมกันแดด เพื่อช่วยเร่งการทำงานของเอนไซม์ที่ช่วยลดความเกรียมแดดของผิวหนัง และช่วยสมานผิวหนัง ซึ่งฤทธิ์บางอย่างนี้ อาจจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม
อย่างที่สาม คือ อาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มีการใช้วิตามินอีเป็นสารกันหืนในอาหาร นอกจากนี้ยังสามารถใช้วิตามินอีเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยจะใช้เพื่อบำรุงร่างกาย ป้องกันการเกิดโรค และลดความรุนแรงของภาวะต่างๆ โดยภาวะบางอย่างยังคงต้องรอผลการศึกษาเพิ่มเติม
วิตามินอีเป็นวิตามินที่มีบทบาทสำคัญในการกวาดล้างสารอนุมูลอิสระที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ มากมาย ซึ่งทำให้กลุ่มนักวิจัยเกิดความสนใจและเกิดการศึกษาวิจัยทางด้านคลินิก และการนำไปใช้ประโยชน์ในมนุษย์ ในด้านความสวยความงามก็จัดได้ว่าเป็นวิตามินที่ถูกนำมาใช้มากตัวหนึ่งในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โดยที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ไม่ยากนัก อย่างไรก็ตามการรับประทานวิตามินอีควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยต่อตัวผู้บริโภคเอง
เอกสารอ้างอิง
- พิสิฐ วงศ์วัฒนะ, ผู้แปล. วิตามิน. กรุงเทพฯ: หมอชาวบ้าน; 2548. หน้า 302-17.
- ศิริวรรณ สุทธจิตต์. คู่มือสุขภาพเกี่ยวกับวิตามิน. กรุงเทพฯ: The Knowledge Center; 2550. หน้า 123-53.
- ชัยยศ บูรณรัชดา. วิตามินอี บทบาทใหม่ในวงการสุขภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: รวมทรรศน์; 2542.
- Blake S. Vitamins and Minerals Demystified. New York: McGraw - Hill, Inc.; 2008.
- Rucker RB, Suttie JW, McCormick DB, Machlin LJ. Handbook of Vitamins. 3rd ed. New York: Marcel Dekker, Inc.; 2001:165-97.
[โปรดแชร์ บทความนี้ ให้กับคนที่คุณรักและเป็นห่วงที่สุดด้วย นะครับ]