ยาต้านโควิด-19 กลุ่ม โมโนโคลนอลแอนติบอดี-monoclonal antibodies และ โมลนูพิราเวียร์-molnupiravir และยาอื่น

ยาต้านโควิด-19 กลุ่ม โมโนโคลนอลแอนติบอดี-monoclonal antibodies และ โมลนูพิราเวียร์-molnupiravir และยาอื่น

รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

          โควิด-19 (COVID-19) เป็นโรคติดเชื้อที่ทางเดินหายใจ เกิดจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ คือ “2019-nCoV (2019 novel coronavirus)” หรือ “SARS-CoV-2” เริ่มเกิดการระบาดที่เมืองอู่ฮั่นในประเทศจีน (Wuhan, China) เมื่อเดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2562 (ค.ศ. 2019) ปัจจุบันยังคงมีการระบาดอย่างกว้างขวางในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย อีกทั้งยังพบการกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วของไวรัสที่ก่อโรค ผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการเกิดขึ้นได้หลายอย่าง เช่น มีไข้ ไอ หายใจลำบาก ปวดศีรษะ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ จมูกไม่ได้กลิ่น เจ็บคอ ปอดอักเสบ อ่อนล้า คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเดินรุนแรง หรือบางรายอาจไม่แสดงอาการใด กรณีที่ผู้ป่วยไม่แสดงอาการใดอาจทำให้ตัวผู้ป่วยเองรวมถึงคนรอบข้างขาดความระมัดระวังและอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โรคมีการระบาดรุนแรงขึ้น อาการของโรคเกิดภายใน 2-14 วันหลังจากได้รับเชื้อ SARS-CoV-2 มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากเนื่องจากการหายใจล้มเหลวและอาการแทรกซ้อนอื่น 
          การคิดค้นยาต้านไวรัสเพื่อกำจัดไวรัสต้นเหตุและการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง กรณีที่เกี่ยวกับยาต้านไวรัสโควิด-19 นั้นขณะนี้มียาหลายชนิดที่นำมาใช้แล้ว บางชนิดได้รับอนุมัติทะเบียนแบบสมบูรณ์หรือเต็มรูปแบบ (full authorization) บางชนิดได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน (emergency use authorization) เป็นการชั่วคราวโดยที่ยานั้นยังไม่ได้รับอนุมัติทะเบียน และบางชนิดนำมาใช้เพื่อมนุษยธรรมในรายที่มีอาการรุนแรงซึ่งวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐานไม่เพียงพอที่จะช่วยชีวิตและไม่มียาอื่นที่จะใช้ (compassionate use) โดยที่ยานั้นยังไม่ได้รับอนุมัติให้นำมาใช้ นอกจากนี้ยังมียาต้านไวรัสอีกมากมายที่ระหว่างการศึกษาทางคลินิกเพื่อนำมาใช้รักษาโควิด-19 
          ในบทความนี้จะกล่าวถึงยาในกลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดี ยาโมลนูพิราเวียร์ และยาอื่นบางชนิด ที่การศึกษาทางคลินิกระยะที่ 3 กำลังดำเนินอยู่

ความเป็นมาของการค้นคว้ายาต้านไวรัสโควิด-19

          ยาต้านไวรัส (antivirals) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อไวรัสก่อโรค จึงให้ยาหลังจากเกิดการติดเชื้อแล้วเพื่อใช้รักษาโรค ต่างจากวัคซีนที่ออกฤทธิ์กระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสจึงเป็นการป้องกันไม่ให้เป็นโรค ด้วยเหตุนี้ยาต้านไวรัสจึงไม่อาจใช้ทดแทนการให้วัคซีน ยาต้านไวรัสออกฤทธิ์ขัดขวางการเจริญและการเพิ่มจำนวนของไวรัส โดยยาอาจไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อาร์เอ็นเอพอลิเมอเรส (RNA polymerase หรือ RNA replicase) ซึ่งเอนไซม์นี้มีความสำคัญในการเพิ่มจำนวนไวรัส หรือยาไปขัดขวางไม่ให้ไวรัสเข้าสู่ภายในเซลล์โฮสต์ เช่นเซลล์ที่ทางเดินหายใจของคน (การเจริญและการเพิ่มจำนวนของไวรัสเกิดขึ้นภายในเซลล์โฮสต์) หรือยาทำให้เกิดการสร้างสารพันธุกรรมชนิดกลายพันธุ์ทำให้ไวรัสไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ หรือยาอาจออกฤทธิ์อย่างอื่น สิ่งเหล่านี้ทำให้ไวรัสไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้
          ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 มีนักวิจัยหลายกลุ่มได้คิดค้นยาต้านไวรัสโควิด-19 ซึ่งการคิดค้นอาจเริ่มต้นจากสารชนิดใหม่และนำยาที่มีใช้อยู่แล้วมาศึกษาต่อยอด ทำให้ขณะนี้มียาต้านไวรัสโควิด-19 ออกมาใช้ภายใต้การอนุญาตให้ใช้ในหลายลักษณะดังกล่าวข้างต้น ตัวอย่างยาต้านไวรัสโควิด-19 ที่นำมาใช้แล้ว เช่น ฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir), เรมเดซิเวียร์ (remdesivir), คลอโรควินฟอสเฟต (chloroquine phosphate), ไฮดรอกซีคลอโรควิน (hydroxychloroquine), โลพินาเวียร์ที่ให้ร่วมกับริโทนาเวียร์ (lopinavir/ritonavir), ไรบาวิริน (ribavirin), อินเตอร์เฟียรอน (interferon-alpha หรือ interferon-beta), อูมิฟีโนเวียร์ (umifenovir) รวมถึงยาในกลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดีและยาอื่นบางชนิดที่จะกล่าวในบทความนี้

ก่อนนำยามาใช้ต้องผ่านการศึกษาทางคลินิก

          การศึกษาทางคลินิกหรือการทดลองทางคลินิก (clinical study หรือ clinical trial) เป็นการศึกษาการใช้ยาในคน ซึ่งก่อนถึงขั้นตอนนี้ยาจะผ่านการศึกษาในหลอดทดลองและการศึกษาในสัตว์ทดลองมาแล้ว โดยทั่วไปก่อนวางจำหน่ายยาจะผ่านการศึกษาทางคลินิก 3 ระยะ ได้แก่ การศึกษาทางคลินิกระยะที่ 1 (phase 1 clinical trial) ทดลองใช้ยากับอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีจำนวนไม่มาก เพื่อศึกษาด้านความปลอดภัยของยาและศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการดูดซึมยา การกระจายยา การเปลี่ยนแปลงยาภายในร่างกายและการขับถ่ายยา) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวัดระดับยาในเลือด จากนั้นเข้าสู่การศึกษาทางคลินิกระยะที่ 2 (phase 2 clinical trial) โดยเริ่มทดลองให้ยากับผู้ป่วยจำนวนไม่มาก เพื่อประเมินด้านประสิทธิภาพในการรักษาโรคพร้อมทั้งหาขนาดยาที่เหมาะสม และประเมินด้านความปลอดภัย (ดูผลไม่พึงประสงค์ของยา) หากพบว่ายามีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยจึงเข้าสู่การศึกษาทางคลินิกระยะที่ 3 (phase 3 clinical trial) โดยทดลองให้ยากับผู้ป่วยจำนวนมาก จึงทำการศึกษาในวงกว้างครอบคลุมผู้ป่วยที่กระจายอยู่หลายแห่ง (multicenter) เพื่อให้ได้ข้อมูลมากขึ้นมาสนับสนุนด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยา ผลการศึกษาต่าง ๆ เหล่านี้รวมถึงข้อมูลด้านอื่นจะผ่านการประเมินจากหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านยาก่อนการอนุมัติทะเบียนให้วางจำหน่าย ดังนั้นกว่าที่ยาแต่ละตำรับจะวางจำหน่ายได้จึงใช้เวลานาน อย่างไรก็ตามในบางสถานการณ์ที่มีความจำเป็นต้องรีบใช้ยาจะมีช่องทางเร่งด่วนในการอนุมัติทะเบียน หรืออาจอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินเป็นการชั่วคราว
          สำหรับยาต้านไวรัสโควิด-19 ที่จะกล่าวถึงข้างล่างนี้ การศึกษาทางคลินิกระยะที่ 3 ยังคงดำเนินอยู่ และยาบางชนิด เช่น ยาในกลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดี ได้รับอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินแล้วในบางประเทศ

1. กลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดี (monoclonal antibodies)

ยา “โมโนโคลนอลแอนติบอดี” คืออะไร?
          ยา “โมโนโคลนอลแอนติบอดี” หรือยา “แอนติบอดีโคลนเดี่ยว” เป็นยาชีววัตถุ (biological drugs หรือ biologics) ผลิตด้วยกรรมวิธีทางเทคโนโลยีชีวภาพ มีโครงสร้างเป็นสารภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีชนิดที่มีความจำเพาะในการจับกับอีพิโทป (epitope) บนผิวของโมเลกุลแอนติเจน (อีพิโทปเป็นชิ้นส่วนจำเพาะบนผิวของโมเลกุลแอนติเจนซึ่งรับรู้ได้ด้วยระบบภูมิคุ้มกัน และเป็นชิ้นส่วนที่โมเลกุลของแอนติบอดีใช้จับกับแอนติเจนนั้น แอนติเจนชนิดหนึ่ง ๆ สามารถมีอีพิโทปได้หลายแห่งและหลายแบบ ทำให้สามารถจับกับแอนติบอดีได้หลายชนิดที่ต่างกัน) ชื่อสามัญของยาในกลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดีจะลงท้ายด้วย “แมบ (mab)” ซึ่ง “mab” เป็นคำย่อของ “monoclonal antibody” ดังชื่อยาในบทความนี้ ได้แก่ คาซิริวิแมบ (casirivimab), อิมเดวิแมบ (imdevimab), โซโทรวิแมบ (sotrovimab), แบมลานิวิแมบ (bamlanivimab) และเอทิซีวิแมบ (etesevimab)

การออกฤทธิ์ต้านไวรัสโควิด-19 ของยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี
          ยาในกลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดีออกฤทธิ์จับกับอีพิโทปที่จำเพาะบนผิวของโมเลกุลแอนติเจนซึ่งได้แก่สไปก์โปรตีนหรือโปรตีนเอส (spike protein S) บนไวรัสโควิด-19 จึงขัดขวางการจับของสไปก์โปรตีนกับตัวรับชนิดเอซีอี 2 (angiotensin-converting enzyme 2 receptor หรือ ACE2 receptor) บนเซลล์โฮสต์ (เช่นเซลล์ที่ทางเดินหายใจคน) ทำให้ไวรัสไม่สามารถเข้าสู่ภายในเซลล์โฮสต์ หรือยาโมโนโคลนอลแอนติบอดีบางชนิดเมื่อจับกับอีพิโทปแล้วไม่ได้ขัดขวางการจับของสไปก์โปรตีนกับตัวรับชนิดเอซีอี 2 แต่ขัดขวางขั้นตอนการผ่านเซลล์เมมเบรน เมื่อไวรัสเข้าสู่ภายในเซลล์โฮสต์ไม่ได้จึงไม่อาจดำรงชีพได้ (การเจริญและการเพิ่มจำนวนของไวรัสเกิดขึ้นภายในเซลล์โฮสต์ดังที่กล่าวข้างต้น)

ยาโมโนโคลนอลแอนติบอดีชนิดที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน
          แม้ว่าการฉีดวัคซีนจะเป็นวิธีป้องกันโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด แต่มีคนจำนวนหนึ่งได้รับวัคซีนยังไม่ครบหรือได้รับครบแล้วแต่สร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่เต็มที่ หากได้รับเชื้อจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ ทำให้บางประเทศอนุญาตให้ใช้ยาต้านไวรัสที่ยังไม่ได้รับอนุมัติทะเบียนและยังอยู่ในการศึกษาทางคลินิกให้สามารถนำมาใช้ในกรณีฉุกเฉินเป็นการชั่วคราวได้ ซึ่งการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินนี้สามารถยกเลิกหรือเปลี่ยนเงื่อนไขการใช้ยาได้ทันทีหากพบว่ายาไม่มีประสิทธิภาพหรือยาไม่ปลอดภัย เช่นในประเทศสหรัฐอเมริกามีการอนุมัติยาโมโนโคลนอลแอนติบอดีที่จะกล่าวถึงข้างล่างนี้ให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน ภายใต้เงื่อนไขว่าใช้เพื่อรักษาโควิด-19 ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปและมีน้ำหนักตัวไม่น้อยกว่า 40 กิโลกรัมภายหลังตรวจพบเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธีอาร์ที-พีซีอาร์ (RT-PCR test หรือ reverse transcription polymerase chain reaction test) และมีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่มีความเสี่ยงสูงที่โรคจะรุดหน้าสู่ความรุนแรงจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสี่ยงที่จะเสียชีวิต ซึ่งจะให้ยาโดยเร็วหลังตรวจพบเชื้อหรืออย่างช้าไม่เกิน 10 วันหลังเริ่มมีอาการ ทั้งนี้ไม่ใช้กับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนักอยู่แล้วซึ่งรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลหรือผู้ที่ต้องให้ออกซิเจน ยาบางชนิดใช้ร่วมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการยับยั้งไวรัส

1. คาซิริวิแมบ (casirivimab) ร่วมกับอิมเดวิแมบ (imdevimab) ของบริษัทรีเจเนอรอนฟาร์มาซูติคอล (Regeneron Pharmaceuticals) ผลิตในรูปยาฉีด สำหรับฉีดเข้าใต้ผิวหนังหรือหยดเข้าหลอดเลือดดำ โดยให้ยาร่วมกันในขนาด 600 มิลลิกรัมเท่ากัน ยาแต่ละชนิดออกฤทธิ์จับจำเพาะกับอีพิโทปคนละแห่งกันและไม่คาบเกี่ยวกัน (non-overlapping epitopes) ทำให้ขัดขวางการจับของสไปก์โปรตีนกับตัวรับชนิดเอซีอี 2 บนเซลล์ที่ทางเดินหายใจคน (ดูหัวข้อ การออกฤทธิ์ต้านไวรัสโควิด-19 ของยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี) การใช้ยาทั้งสองชนิดร่วมกันในขนาดที่กล่าวข้างต้นยังอนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินเพื่อป้องกันโรคภายหลังการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ (post-exposure prophylaxis) โดยใช้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว 2 สัปดาห์แต่การกระตุ้นภูมิคุ้มกันเกิดไม่เพียงพอ หรือผู้ที่คาดว่าน่าจะสร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่เพียงพอ เช่น ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน โดยบุคคลเหล่านี้ได้ผ่านการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อหรือมีความเสี่ยงสูงในการได้สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ หากต้องสัมผัสกับผู้ติดเชื้อเป็นเวลานานกว่า 4 สัปดาห์ ให้ยาซ้ำได้ทุก 4 สัปดาห์ ในขนาดยาลดลงครึ่งหนึ่งเหลืออย่างละ 300 มิลลิกรัม ทั้งนี้จะไม่ใช้ยาเหล่านี้เพื่อป้องกันโรคหากยังไม่ได้สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ (pre-exposure prophylaxis) และยาเหล่านี้ไม่อาจใช้ทดแทนการฉีดวัคซีน

2. โซโทรวิแมบ (sotrovimab) ของบริษัทแกล็กโซสมิทไคลน์ (GlaxoSmithKline) ผลิตในรูปยาฉีด ให้ยาโดยหยดเข้าหลอดเลือดดำในขนาด 500 มิลลิกรัม ยาออกฤทธิ์จับกับอีพิโทปที่จำเพาะและเป็นชนิดที่มีความคงตัวสูง (conserved epitope) ซึ่งอยู่บนผิวของสไปก์โปรตีน ยาไม่ได้ขัดขวางการจับของสไปก์โปรตีนกับตัวรับชนิดเอซีอี 2 แต่ขัดขวางขั้นตอนการผ่านเซลล์เมมเบรน ทำให้ไวรัสไม่สามารถเข้าสู่ภายในเซลล์ที่ทางเดินหายใจคน ไวรัสจึงไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้

3. แบมลานิวิแมบ (bamlanivimab) และเอทิซีวิแมบ (etesevimab) ของบริษัทแอบเซลเลอราไบโอโลจิกส์ (AbCellera Biologics) ร่วมกับบริษัทอีไลลิลลี (Eli Lilly) ผลิตในรูปยาฉีด ให้ยาร่วมกันโดยหยดเข้าหลอดเลือดดำ แบมลานิวิแมบให้ในขนาด 700 มิลลิกรัม ส่วนเอทิซีวิแมบให้ในขนาด 1,400 มิลลิกรัม ยาแต่ละชนิดออกฤทธิ์จับจำเพาะกับอีพิโทปคนละแห่งแต่คาบเกี่ยวกัน (overlapping epitopes) ทำให้ขัดขวางการจับของสไปก์โปรตีนกับตัวรับชนิดเอซีอี 2 บนเซลล์ที่ทางเดินหายใจคน อย่างไรก็ตามยาทั้งสองชนิดนี้ให้ผลไม่ดีในการรักษาโควิด-19 จากเชื้อสายพันธุ์แกมมา (Gamma: P.1) และสายพันธุ์เบตา (Beta: B.1.351) ดังนั้นช่วงที่มีการระบาดอย่างหนักของไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวจะหยุดการใช้ยาเหล่านี้
          ด้านผลไม่พึงประสงค์ของยาในกลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดี ในเบื้องต้นพบว่าการฉีดเข้าใต้ผิวหนังอาจเกิดรอยช้ำและแดงตรงตำแหน่งที่ฉีด ส่วนการให้ยาทางหลอดเลือดดำอาจเกิดผลไม่พึงประสงค์ที่สัมพันธ์กับการหยดยาเข้าหลอดเลือดดำ เช่น คัน ผื่นขึ้น ลมพิษ ร้อนวูบวาบ มีไข้ หายใจถี่ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง คลื่นไส้ ซึ่งผลไม่พึงประสงค์ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ที่กล่าวข้างต้น อาจพบผลไม่พึงประสงค์อย่างอื่นได้เมื่อมีการใช้ยาในวงกว้าง

2. โมลนูพิราเวียร์ (molnupiravir)

          ข้อมูลทั่วไป โมลนูพิราเวียร์ (ชื่ออื่น: MK-4482, EIDD-2801) ของบริษัทเมอร์ค (Merck) ยานี้พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเอมอรี (Emory University) ในประเทศสหรัฐอเมริกา เดิมพัฒนายานี้เพื่อใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ ต่อมามีการศึกษาเพื่อใช้กับโควิด-19 โมลนูพิราเวียร์เป็นยาต้านไวรัสชนิดรับประทาน ผลิตในรูปยาแคปซูล ยาถูกดูดซึมดีจากทางเดินอาหาร ยานี้อยู่ในรูปโพรดรัก (prodrug) (ซึ่ง “โพร-ดรัก” หมายถึงยาที่ยังไม่มีฤทธิ์หรือมีฤทธิ์เพียงเล็กน้อย) ภายหลังรับประทานจึงถูกเปลี่ยนเป็นสารออกฤทธิ์คือเอ็น-โฮดรอกซีไซทิดีน (N-hydroxycytidine หรือ β-d-N4-hydroxycytidine หรือ NHC) ทำให้เอนไซม์อาร์เอ็นเอพอลิเมอเรสของไวรัสนำสารนี้ไปสร้างสารพันธุกรรมอาร์เอ็นเอชนิดกลายพันธุ์ ทำให้ไวรัสไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้อีกต่อไป
          การศึกษาทางคลินิก เดิมมีศึกษาการใช้ยานี้เพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการมากและรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ยาให้ผลไม่ดีและต้องใช้ในขนาดสูง ต่อมาจึงมีการศึกษาในผู้ป่วยนอกที่มีอาการเล็กน้อยเพื่อลดความเสี่ยงที่โรคจะรุดหน้าสู่ระยะรุนแรงจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต มีการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 3 ในประเทศอินเดีย ศึกษาในผู้ป่วยรวม 1,218 คนที่มีอาการเล็กน้อยซึ่งเป็นมาแล้วไม่เกิน 5 วันและตรวจพบเชื้อด้วยวิธีอาร์ที-พีซีอาร์ แบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่มเท่า ๆ กัน เพื่อให้ยาโมลนูพิราเวียร์ร่วมกับการรักษาที่เป็นมาตรฐานเปรียบเทียบกับการรักษาที่เป็นมาตรฐานเพียงอย่างเดียว (ไม่ได้รับยานี้) โดยให้ยาในขนาด 800 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 5 วัน ในเบื้องต้นประเมินผลในผู้ป่วย 741 คน พบว่าในวันที่ 5 ของการรักษามีจำนวนผู้ป่วยที่ให้ผลลบเมื่อตรวจเชื้อด้วยวิธีอาร์ที-พีซีอาร์ในกลุ่มที่ได้รับโมลนูพิราเวียร์ 77.35% เทียบกับ 26.07% ในกลุ่มที่ได้รับการรักษาที่เป็นมาตรฐานเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะเห็นได้ว่ายาช่วยกำจัดไวรัสได้เร็ว การกำจัดไวรัสดีขึ้นเรื่อย ๆ ในทั้งสองกลุ่ม จำนวนผู้ป่วยที่ให้ผลลบเมื่อตรวจเชื้อในวันที่ 10 ของการรักษาพบในกลุ่มที่ได้รับโมลนูพิราเวียร์ 94.03% เทียบกับ 57.20% ในกลุ่มที่ได้รับการรักษาที่เป็นมาตรฐานเพียงอย่างเดียว และในวันที่ 14 ของการรักษาพบในกลุ่มที่ได้รับโมลนูพิราเวียร์พบ 97.01% เทียบกับ 85.21% ในกลุ่มที่ได้รับการรักษาที่เป็นมาตรฐานเพียงอย่างเดียว ความแตกต่างเหล่านี้มีนัยสำคัญทางสถิติแม้ตรวจเชื้อในวันที่ 14 ของการรักษา

3. ยาอื่นที่อยู่ในการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 3

ไนตาซอกซาไนด์ (nitazoxanide)
          ไนตาซอกซาไนด์เป็นยาชนิดรับประทานที่มีใช้อยู่แล้ว ใช้รักษาโรคอุจจาระร่วงที่เกิดจากจุลชีพจำพวกปรสิตเซลล์เดียวกลุ่มโปรโตซัว (โรค cryptosporidiosis และโรค giardiasis) โดยใช้กับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ ในการศึกษาเพื่อใช้กับผู้ป่วยโควิด-19 นั้น ผลการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 2 ในประเทศบราซิลที่ศึกษาในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปจำนวน 392 คนที่มีอาการเล็กน้อย พบว่ากลุ่มที่ได้รับยาไนตาซอกซาไนด์ 500 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 5 วันช่วยทุเลาอาการได้ไม่แตกต่างจากยาหลอก แต่ปริมาณไวรัสในกลุ่มที่ได้รับยาพบน้อยกว่ากลุ่มยาหลอกอย่างชัดเจนและขนาดยาดังกล่าวมีความปลอดภัย ส่วนการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 3 เปรียบเทียบการใช้ยานี้กับยาหลอกในการรักษาผู้ป่วยมีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางและมีอาการมาไม่เกิน 3 วัน โดยให้ยานี้ในขนาด 300 มิลลิกรัมในรูปยาเม็ดออกฤทธิ์เนิ่น (extended-release tablets) รับประทานวันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 5 วัน มีผู้ป่วยเข้าร่วมในการศึกษา 1,092 คน อายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ในเบื้องต้นประเมินผลในผู้ป่วย 379 คน พบว่ายาช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ 85% ของผู้ป่วย (ความรุนแรงของโรคพบ 0.5% ในกลุ่มที่ได้รับยาและพบ 3.6% ในกลุ่มยาหลอก) และผู้ป่วยทนต่อการใช้ยาได้ดี ผลไม่พึงประสงค์ในกลุ่มที่ได้รับไนตาซอกซาไนด์พบไม่ต่างจากกลุ่มยาหลอก มีเพียงอาการท้องเดินที่พบได้มากกว่า (3.4% เทียบกับ 2.2%) แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

เอนโซวิเบป (ensovibep)
          เอนโซวิเบป (ชื่ออื่น: MP0420) เป็นยาชีววัตถุประเภทโปรตีนลูกผสม (fusion protein) ผลิตโดยกรรมวิธีทางเทคโนโลยีชีวภาพ พัฒนาโดยบริษัทโนวาร์ติส (Novartis) ร่วมกับบริษัทโมเลคิวลาร์พาร์ตเนอร์ส (Molecular Partners) โครงสร้างยามีหน่วยย่อย (domain) ที่สามารถจับกับอีพิโทปเดียวกันบนสไปก์โปรตีนโดยจับได้ถึง 3 แห่ง จึงเป็นการจับอย่างเหนียวแน่นและเพิ่มประสิทธิภาพในการขัดขวางไม่ให้สไปก์โปรตีนไปจับกับตัวรับเอซีอี-2 บนเซลล์ที่ทางเดินหายใจคน ให้ยาทางหลอดเลือดดำซึ่งผู้ป่วยต้องมาโรงพยาบาล ส่วนหนึ่งของการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 3 ทำในผู้ป่วยที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและมีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางจำนวน 1,000 คน เพื่อศึกษาด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของเอนโซวิเบปที่ให้เข้าหลอดเลือดดำในวันแรกครั้งเดียวเปรียบเทียบกับการให้ยาหลอก พร้อมทั้งหาขนาดยาที่เหมาะสม ผู้ป่วยทุกรายได้รับการรักษาที่เป็นมาตรฐานร่วมด้วย (รวมถึงการได้รับยาเรมเดซิเวียร์) ในเบื้องต้นจะประเมินผลใน 300 คน นอกจากนี้ยังมีการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 2/3 ที่ทำในผู้ป่วยนอก 2,100 คน เพื่อประเมินประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้โรครุดหน้าสู่ระยะรุนแรงและความปลอดภัยของยานี้ที่ให้เข้าหลอดเลือดดำในวันแรกครั้งเดียว ซึ่งขณะนี้การศึกษากำลังดำเนินอยู่

ไอเวอร์เมกติน (ivermectin)
          ไอเวอร์เมกตินเป็นยาชนิดรับประทานที่มีใช้อยู่แล้ว ยานี้ใช้กำจัดปรสิตพวกเหา หิดและหนอนพยาธิ ผลการศึกษาในหลอดทดลองพบว่ายาให้ผลดีในการต้านไวรัสโควิด-19 ยาออกฤทธิ์ได้หลายอย่าง เช่น ยับยั้งไม่ให้ไวรัสเข้าสู่ภายในเซลล์โฮสต์ รบกวนการสร้างสารพันธุกรรมของไวรัส นอกจากนี้ยังอาจช่วยลดความรุนแรงของโรคโดยการยับยั้งฤทธิ์ของสารก่อการอักเสบบางชนิด แต่ผลการศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยโควิด-19 ที่ผ่านมายังไม่ชัดเจนว่ายานี้มีประสิทธิภาพหรือไม่ อย่างไรก็ตามบางประเทศมีการนำยานี้มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ขณะนี้มีการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 3 หลายการศึกษา ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นและการศึกษาทำอย่างมีแบบแผนมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 4 ในประเทศมาเลเซีย โดยศึกษาในผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีความเสี่ยงสูงจำนวน 500 คน ได้รับยาในขนาด 0.4 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน เป็นเวลา 5 วันร่วมกับการรักษาที่เป็นมาตรฐานเปรียบเทียบกับการรักษาที่เป็นมาตรฐานเพียงอย่างเดียว ขณะนี้การศึกษายังคงดำเนินอยู่
----------------


ที่มาบทความต้นฉบับ



Name

กระดูกและข้อ,9,การใช้สมุนไพร,13,เกร็ดความรู้สุขภาพ,28,ข้อมูลเกี่ยวกับโรค,83,คลินิกควบคุมน้ำหนัก,16,คลินิกจิตเวช,30,ช่วง Q&A,1,เตือนภัยสุขภาพคุณผู้หญิง,22,ประเด็นสุขภาพที่ควรรู้,130,พบหมอฟัน,1,ระบบสืบพันธุ์,1,รู้ทันโควิด 19-Covid-19,25,โรคความดัน,5,โรคไต,18,โรคเบาหวาน,4,โรคผิวหนัง,15,โรคระบบทางเดินอาหาร,1,เวชศาสตร์ชะลอวัย,22,สุขภาพตา,5,หูคอจมูก,5,อาหารและยา,72,
ltr
item
ไขปัญหาเรื่องสุขภาพ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง: ยาต้านโควิด-19 กลุ่ม โมโนโคลนอลแอนติบอดี-monoclonal antibodies และ โมลนูพิราเวียร์-molnupiravir และยาอื่น
ยาต้านโควิด-19 กลุ่ม โมโนโคลนอลแอนติบอดี-monoclonal antibodies และ โมลนูพิราเวียร์-molnupiravir และยาอื่น
ยาต้านโควิด-19 กลุ่ม โมโนโคลนอลแอนติบอดี-monoclonal antibodies และ โมลนูพิราเวียร์-molnupiravir และยาอื่น
https://blogger.googleusercontent.com/img/a/AVvXsEjmnpZ2P3HaVW1XR8plmx1ddnMjCMxIkvcK6w-5YXZP-yuN65l89mVUwynaSCfU0ClgaEb4WJQ_YmFHrWPl1WT1gnvIZrRXpq4Wzr2Lrzf26kmP8YoLYO0Qsty-KuEa8sP1RMuCmd1doqOxPAMtbTzaIY1GkYdYIDA5-KNvplfky-7hzFFJWlAFlngU=w320-h218
https://blogger.googleusercontent.com/img/a/AVvXsEjmnpZ2P3HaVW1XR8plmx1ddnMjCMxIkvcK6w-5YXZP-yuN65l89mVUwynaSCfU0ClgaEb4WJQ_YmFHrWPl1WT1gnvIZrRXpq4Wzr2Lrzf26kmP8YoLYO0Qsty-KuEa8sP1RMuCmd1doqOxPAMtbTzaIY1GkYdYIDA5-KNvplfky-7hzFFJWlAFlngU=s72-w320-c-h218
ไขปัญหาเรื่องสุขภาพ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
https://www.yinyang.in.th/2021/10/19-monoclonal-antibodies-molnupiravir.html
https://www.yinyang.in.th/
https://www.yinyang.in.th/
https://www.yinyang.in.th/2021/10/19-monoclonal-antibodies-molnupiravir.html
true
6588637073179937695
UTF-8
Loaded All Posts Not found any posts ดูทั้งหมด อ่านเพิ่มเติม Reply Cancel reply Delete By หน้าหลัก หน้า บทความ View All บทความแนะนำ หมวด ARCHIVE สืบค้น ALL POSTS ไม่พบข้อมูลที่คุณกำลังค้นหาค่ะ กลับสู่หน้าแรก Sunday Monday Tuesday Wednesday Thursday Friday Saturday Sun Mon Tue Wed Thu Fri Sat January February March April May June July August September October November December ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค. just now 1 minute ago $$1$$ minutes ago 1 hour ago $$1$$ hours ago Yesterday $$1$$ days ago $$1$$ weeks ago more than 5 weeks ago Followers Follow THIS PREMIUM CONTENT IS LOCKED STEP 1: Share to a social network STEP 2: Click the link on your social network Copy All Code Select All Code All codes were copied to your clipboard Can not copy the codes / texts, please press [CTRL]+[C] (or CMD+C with Mac) to copy