เด็กเติบโตช้าและตัวเตี้ยเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเจริญเติบโตอย่างไร

ความสำคัญของโกรทฮอร์โมนต่อการเจริญเติบโตของเด็ก


บทความโดย
รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

          “โกรทฮอร์โมน (growth hormone)” หรือ “ฮอร์โมนเจริญเติบโต” เป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นการเจริญเติบโตในเด็ก การขาดฮอร์โมนนี้หรือมีการหลั่งฮอร์โมนไม่เพียงพอจะทำให้เด็กเติบโตช้าและตัวเตี้ย การให้ยาโกรทฮอร์โมนทดแทนช่วยกระตุ้นให้เด็กเติบโตและมีส่วนสูงเพิ่มขึ้น ยาโกรทฮอร์โมนยังนำมาใช้รักษาภาวะเด็กตัวเตี้ยจากสาเหตุอื่นบางชนิด ในบทความนี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความสำคัญของโกรทฮอร์โมนต่อการเจริญเติบโตของเด็ก ยาโกรทฮอร์โมนชนิดที่นำมาใช้รักษาภาวะเด็กเติบโตช้าและเด็กตัวเตี้ย ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ผลไม่พึงประสงค์ของยา และข้อควรคำนึงเมื่อใช้ยาโกรทฮอร์โมน

โกรทฮอร์โมนมีความสำคัญอย่างไร?

          ในร่างกายโกรทฮอร์โมน (growth hormone หรือ somatotropin หรือ GH) เป็นฮอร์โมนที่หลั่งจากส่วนหน้าของต่อมใต้สมอง (anterior pituitary gland) โครงสร้างโกรทฮอร์โมนประกอบด้วยกรดอะมิโน 191 ตัว การหลั่งฮอร์โมนนี้เกิดขึ้นตลอดช่วงอายุของคนแต่ปริมาณที่หลั่งมีมากหรือน้อยแตกต่างไปตามวัย การหลั่งเกิดขึ้นมากในวัยเด็กซึ่งอยู่ในช่วงที่กำลังเจริญเติบโต เด็กเล็กมีฮอร์โมนนี้ในระดับสูงและการหลั่งเกิดมากขณะหลับ ในผู้ใหญ่มีการหลั่งฮอร์โมนลดลงโดยเฉพาะผู้สูงอายุ โกรทฮอร์โมนมีฤทธิ์กระตุ้นการเจริญเติบโตของร่างกาย โดยมีผลต่อเซลล์ เนื้อเยื่อและอวัยวะเกือบทุกชนิด ทำให้กระดูกของเด็กเจริญยาวขึ้นและเด็กมีรูปร่างสูงใหญ่ ส่วนในผู้ใหญ่ซึ่งหยุดสูงแล้วฮอร์โมนนี้ทำให้กระดูกกว้างและหนา โกรทฮอร์โมนมีความสำคัญต่อเมแทบอลิซึม (หมายถึงกระบวนการสร้างและสลายสาร) ของโปรตีน คาร์โบไฮเดรตและไขมัน นอกจากนี้ยังมีความสำคัญต่อพัฒนาการและการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ตลอดจนการเรียนรู้ เด็กที่ขาดฮอร์โมนนี้ (รวมถึงการหลั่งที่ไม่เพียงพอ) สิ่งที่ปรากฏชัดคือเด็กมีรูปร่างเตี้ยแคระ

เด็กเติบโตช้าและเด็กตัวเตี้ยเกิดจากสาเหตุใดบ้าง?

          มีสาเหตุมากมายทำให้เด็กเติบโตช้าและ/หรือเด็กตัวเตี้ย เช่น พันธุกรรมจากพ่อและแม่ การขาดอาหาร การขาดโกรทฮอร์โมน การทำงานของต่อมเพศน้อย การเป็นโรคหรือมีความผิดปกติบางอย่าง หรือเกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ภาวะเด็กเติบโตช้าและตัวเตี้ยเนื่องจากขาดโกรทฮอร์โมน จากที่กล่าวข้างต้นแล้วว่าโกรทฮอร์โมนช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเด็ก การขาดโกรทฮอร์โมนจึงทำให้เด็กเติบโตช้าและตัวเตี้ย การขาดฮอร์โมนอาจเป็นมาแต่กำเนิดหรือเกิดขึ้นภายหลัง และอาจขาดโกรทฮอร์โมนเพียงชนิดเดียวหรือขาดฮอร์โมนชนิดอื่นด้วย หากขาดฮอร์โมนชนิดอื่นด้วยต้องให้การรักษาความผิดปกติอื่นที่เกิดขึ้นนั้นเช่นเดียวกัน
  • ภาวะเด็กเติบโตช้าและตัวเตี้ยเนื่องจากสาเหตุอื่น สาเหตุที่เด็กเติบโตช้าและ/หรือเด็กตัวเตี้ย นอกเหนือจากพันธุกรรมของพ่อและแม่ การขาดอาหารและการขาดโกรทฮอร์โมนแล้ว อาจมีสาเหตุอย่างอื่น เช่น ภาวะต่อมเพศทำงานน้อย (hypogonadism) ในผู้ชาย, ภาวะมีไทรอยด์ฮอร์โมนน้อย (hypothyroidism), โรคไตเรื้อรัง, ภาวะทารกตัวเล็กตั้งแต่คลอดเมื่อเทียบกับทารกทั่วไปที่มีอายุครรภ์เท่ากัน (small for gestational age) ซึ่งโดยทั่วไปจะโตทันเกณฑ์ใน 2 ปีหรือไม่เกิน 4 ปี, ความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ตัวอย่างเช่น กลุ่มอาการนูแนน (Noonan syndrome) ซึ่งเกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนบางชนิด ทำให้มีความผิดปกติด้านการเจริญเติบโต ด้านโครงสร้างร่างกายและอวัยวะบางอย่าง ด้านการเรียนรู้และพัฒนาการต่าง ๆ, กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner syndrome) ในเพศหญิง ซึ่งมีความผิดปกติของโครโมโซมเอกซ์ (X chromosome) โดยมีแท่งหนึ่งหายไปบางส่วนหรือหายไปทั้งหมด ทำให้รังไข่ไม่ทำงาน ร่างกายมีพัฒนาการที่ผิดปกติและการเรียนรู้ด้อยลง, หรือภาวะเด็กตัวเตี้ยเกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ (idiopathic short stature)

ยาโกรทฮอร์โมน

          ในการใช้ยาโกรทฮอร์โมนเพื่อรักษาภาวะเด็กเติบโตช้าและเด็กตัวเตี้ยนั้น ต้องให้ยาก่อนที่ส่วนปลายของกระดูกยาว (epiphysis) จะเชื่อมปิดกัน ยาโกรทฮอร์โมนรุ่นแรกสกัดมาจากต่อมใต้สมองของคนที่เสียชีวิต นำมาใช้ในราวต้นคริสต์ทศวรรษ 1960 เพื่อรักษาเด็กที่ขาดโกรทฮอร์โมน เป็นยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ต่อมาในปี ค.ศ. 1985 พบว่ายาบางรุ่นมีการปนเปื้อนด้วยโปรตีนจากไวรัสทำให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง คือ โรคครอยตส์เฟลดต์-จาค็อบ (Creutzfeldt-Jakob disease) ผู้ป่วยเกิดภาวะสมองเสื่อม แม้จะเกิดขึ้นน้อยแต่การปนเปื้อนตรวจสอบได้ยาก ทั่วโลกจึงเลิกใช้ยาโกรทฮอร์โมนที่ผลิตโดยวิธีดังกล่าว และในปีเดียวกันได้เปลี่ยนมาใช้ยาโกรทฮอร์โมนชนิดที่ผลิตโดยกรรมวิธีทางเทคโนโลยีชีวภาพ คือ รีคอมบิแนนต์โกรทฮอร์โมน (recombinant growth hormone หรือ rGH) ซึ่งมีความบริสุทธิ์มากกว่าชนิดที่สกัดมาจากต่อมใต้สมองของคนที่เสียชีวิต
  1. โซมาเทรม (somatrem) เป็นรีคอมบิแนนต์โกรทฮอร์โมนที่มีกรดอะมิโน 192 ตัว ซึ่งเรียงตัวเหมือนโกรทฮอร์โมนของคนแต่มีกรดอะมิโนเพิ่มอีก 1 ตัว คือ เมไทโอนีน (methionine) ทางปลายด้านที่มีหมู่อะมิโน (N-terminus) ยานี้เริ่มใช้เมื่อปี ค.ศ. 1985 ใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนังหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ปัจจุบันยานี้ถูกแทนที่ด้วยโซมาโทรพิน
  2. โซมาโทรพิน (somatropin) เป็นรีคอมบิแนนต์ฮิวแมนโกรทฮอร์โมน (recombinant human growth hormone หรือ rhGH) ที่มีกรดอะมิโน 191 ตัวและเรียงกันเหมือนโกรทฮอร์โมนของคน ใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนังทุกวัน (หรือฉีด 6 วันใน 1 สัปดาห์) ขนาดยาขึ้นกับความรุนแรงของการขาดโกรทฮอร์โมนโดยอยู่ในช่วง 0.025-0.05 มิลลิกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว/วัน หรือ 0.7-1.4 มิลลิกรัม/ตารางเมตรผิวกาย/วัน ในบางกรณีอาจใช้ขนาดสูงกว่านี้ โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนังบริเวณท้อง ต้นแขน สะโพกส่วนก้น หรือต้นขา ควรเปลี่ยนบริเวณที่ฉีดในแต่ละครั้งเพื่อไม่ให้เกิดการฝ่อของเนื้อเยื่อไขมันตรงที่ฉีด ในเด็กที่เป็นโรคอ้วนแนะนำให้ใช้ขนาดยาตามพื้นที่ผิวกาย ปรับขนาดยาทุก 6-12 เดือนให้สอดคล้องกับการเติบโตของเด็ก โดยมีการติดตามวัดระดับไอจีเอฟ-1 ในซีรัม (ดูเรื่อง ไอจีเอฟ-1 ในหัวข้อ ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของโกรทฮอร์โมน) เป็นประจำทุกปีหรือเมื่อมีการปรับขนาดยา ซึ่งไม่ควรเกินระดับสูงสุดของค่ามาตรฐาน แม้ว่าค่าไอจีเอฟ-1 จะสัมพันธ์กับประสิทธิภาพของยาในการกระตุ้นการเติบโต แต่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดผลไม่พึงประสงค์ หากมีระดับสูงเกินควรลดขนาดยาโกรทฮอร์โมนลง แต่ถ้ามีระดับไอจีเอฟ-1 ต่ำให้ประเมินการใช้ยาของผู้ป่วยว่าเป็นไปตามที่แนะนำหรือไม่ก่อนที่จะมีการปรับขนาดยา เนื่องจากส่วนใหญ่มักเกิดจากการใช้ยาไม่สม่ำเสมอ
  3. โลนาเพกโซมาโทรพิน (lonapegsomatropin) เป็นรีคอมบิแนนต์โกรทฮอร์โมนชนิดใหม่ โครงสร้างประกอบด้วยตัวยาโซมาโทรพินที่เชื่อมกับพาหะ (methoxypolyethylene glycol carrier) ซึ่งทำหน้าที่ปล่อยตัวยาทีละน้อยอย่างช้า ๆ ทำให้ยาออกฤทธิ์ได้นาน ใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนังเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง จึงเพิ่มความสะดวก (ต่างจากยาโซมาโทรพินซึ่งต้องฉีดทุกวัน) ขณะนี้มีใช้แล้วในบางประเทศในข้อบ่งใช้สำหรับรักษาภาวะการเจริญเติบโตล้มเหลวเนื่องจากโกรทฮอร์โมนหลั่งไม่เพียงพอในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปและมีน้ำหนักตัวไม่น้อยกว่า 11.5 กิโลกรัม ขนาดที่แนะนำคือ 0.24 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ฉีดเข้าใต้ผิวหนังสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยเปลี่ยนบริเวณที่ฉีดในแต่ละครั้งเพื่อไม่ให้เกิดการฝ่อของเนื้อเยื่อไขมันตรงที่ฉีด

ยาโกรทฮอร์โมนใช้กับใครบ้าง?

          ยาโกรทฮอร์โมนนำมาใช้รักษาเด็กที่มีภาวะเติบโตช้าและเด็กตัวเตี้ยในหลายกรณีดังกล่าวข้างล่างนี้ อย่างไรก็ตามการใช้ในกรณีที่นอกเหนือจากรายที่ขาดโกรทฮอร์โมนนั้น ผลการศึกษาที่มาสนับสนุนประสิทธิภาพของยายังไม่ชัดเจนว่ามีมากหรือน้อยเพียงใด
  1. เด็กเติบโตช้าและตัวเตี้ยเนื่องจากขาดโกรทฮอร์โมน (หรือหลั่งไม่เพียงพอ) หากได้รับการรักษาในช่วงอายุ 0-3 ปี (โดยเฉพาะหากมีอายุต่ำกว่า 12 เดือน) จะเห็นผลดีในการเพิ่มทั้งส่วนสูงและน้ำหนัก หยุดใช้ยาเมื่อส่วนปลายของกระดูกยาวเชื่อมปิดกันแล้ว
  2. เด็กตัวเตี้ยที่พบร่วมกับความผิดปกติอื่น (ตามที่กล่าวไว้ในหัวข้อ เด็กเติบโตช้าและเด็กตัวเตี้ยเกิดจากสาเหตุใดบ้าง?) เช่น กลุ่มอาการนูแนน (Noonan syndrome), กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner syndrome) มีการศึกษาที่สนับสนุนว่ายาโกรทฮอร์โมนช่วยให้เด็กตัวเตี้ยที่พบร่วมกับความผิดปกติที่กล่าวข้างต้นสูงเพิ่มขึ้นได้ (เช่น ในกลุ่มอาการเทอร์เนอร์ความสูงเพิ่มอาจเพิ่มได้ 5-8 เซนติเมตร) อย่างไรก็ตามยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายาโกรทฮอร์โมนช่วยเพิ่มความสูงได้เท่าใด เนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้ได้รับยาเพื่อรักษาความผิดปกติอื่นร่วมด้วย
  3. เด็กตัวเตี้ยเนื่องจากมีภาวะทารกตัวเล็กตั้งแต่คลอดเมื่อเทียบกับทารกทั่วไปที่มีอายุครรภ์เท่ากัน (small for gestational age) ซึ่งเด็กโตไม่ทันเกณฑ์เมื่ออายุ 2-4 ปี อย่างไรก็ตามผลการรักษาอาจแตกต่างกันได้เนื่องจากพันธุกรรม อายุเด็กเมื่อเริ่มใช้ยา ระยะเวลาที่ใช้ยา หรือปัจจัยอื่น ๆ
  4. เด็กตัวเตี้ยโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งประสิทธิผลของยาที่รายงานพบว่ามีความแปรปรวนสูง

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของยาโกรทฮอร์โมน

          ยาโกรทฮอร์โมนมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายอย่าง ยาอาจแสดงฤทธิ์โดยตรงผ่านตัวรับ (GH receptor) ที่อยู่บนผิวเซลล์ หรือแสดงฤทธิ์ผ่านสารชนิดหนึ่งที่มีโครงสร้างคล้ายอินซูลิน คือไอจีเอฟ-1 (IGF-1 หรือ insulin-like growth factor-1 หรือ somatomedin C) ในเด็กที่ขาดโกรทฮอร์โมนจะมีระดับไอจีเอฟ-1 ในซีรัมต่ำ การให้ยาโกรทฮอร์โมนทำให้ระดับไอจีเอฟ-1 สูงขึ้น จึงมีการติดตามวัดระดับไอจีเอฟ-1 ในซีรัมเพื่อประเมินประสิทธิภาพของยา ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของโกรทฮอร์โมนที่จะกล่าวถึง (เพื่อให้เกิดความเข้าใจทั้งด้านการนำยาไปใช้ประโยชน์และด้านผลไม่พึงประสงค์) มีดังนี้
          1. กระตุ้นการเจริญในระดับเซลล์ จนถึงระดับเนื้อเยื่อและอวัยวะ (ทั้งอวัยวะภายนอกและอวัยวะภายใน) ทำให้ เด็กมีกล้ามเนื้อโครงร่างและกระดูกเจริญเติบโต มีรูปร่างสูงใหญ่ ซึ่งฤทธิ์กระตุ้นการเจริญเติบโตและสร้างกล้ามเนื้อนี้ส่วนใหญ่ออกฤทธิ์ผ่านสารไอจีเอฟ-1
          2. กระตุ้นเมแทบอลิซึมของโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และอิเล็กโทรไลต์
               โปรตีน: ทำให้เกิดการสร้างโปรตีนในร่างกาย (anabolic effect) และลดการสร้างยูเรีย โกรทฮอร์โมนเป็นฮอร์โมนเสริมสร้าง ยาโกรทฮอร์โมนจึงเป็นสารต้องห้ามทางการกีฬา
               คาร์โบไฮเดรต: ทำให้เกิดการสลายไกลโคเจน (glycogen) มีการนำคาร์โบไฮเดรตไปใช้มากขึ้นและทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น
               ไขมัน: ทำให้เกิดการสลายไขมันไปเป็นกรดไขมันอิสระ (free fatty acid) ดังนั้นการที่ยาโกรทฮอร์โมนช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อในขณะที่ลดเนื้อเยื่อไขมัน จึงมีการนำยาโกรทฮอร์โมนไปใช้ในทางที่ผิดในด้านการกีฬาเพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อโตขึ้นในขณะที่น้ำหนักไม่เพิ่มขึ้น (เนื่องจากมีเนื้อเยื่อไขมันลดลง)
               อิเล็กโทรไลต์: ทำให้เกิดการสะสมแมกนีเซียม โซเดียม โพแทสเซียมและฟอสเฟตในร่างกายเพิ่มขึ้น ซึ่งฟอสเฟตเป็นส่วนประกอบของกระดูก ส่วนการสะสมโซเดียม (รวมถึงน้ำ) ทำให้มีความดันโลหิตเพิ่มขึ้น
          3. ฤทธิ์อื่น ๆ เช่น เพิ่มจำนวนเม็ดเลือดแดง, เพิ่มการสร้างคอนดรอยตินซัลเฟต (chondroitin sulfate) ซึ่งสารนี้เป็นส่วนประกอบของกระดูกอ่อน, เพิ่มการสร้างคอลลาเจน (collagen), ลดการหลั่งฮอร์โมนไทโรโทรปิน (thyrotropin หรือ thyroid-stimulating hormone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน (thyroid hormone) ดังนั้นการใช้ยาโกรทฮอร์โมนจึงทำให้ไทรอยด์ฮอร์โมนหลั่งน้อยลง

ผลไม่พึงประสงค์ยาโกรทฮอร์โมน

          ยาโกรทฮอร์โมนชนิดที่ใช้ในปัจจุบัน (รีคอมบิแนนต์ฮิวแมนโกรทฮอร์โมน) นั้นมีใช้มานานแล้ว เป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัยโดยเฉพาะเมื่อใช้รักษาภาวะขาดโกรทฮอร์โมนในเด็ก พบผลไม่พึงประสงค์น้อยและส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง การใช้ยาเพื่อรักษาภาวะเด็กเติบโตช้าและตัวเตี้ยที่มีสาเหตุมาจากการขาดโกรทฮอร์โมนพบผลไม่พึงประสงค์ได้น้อยกว่าการใช้ยาเพื่อรักษาภาวะเด็กตัวเตี้ยจากสาเหตุอื่น ผลไม่พึงประสงค์ของยาโกรทฮอร์โมนที่อาจพบมีดังนี้
  1. การแพ้ยา พบได้น้อย อย่างไรก็ตามหากเกิดการแพ้ไม่ว่าจะแพ้ต่อส่วนประกอบใด ๆ ห้ามใช้ยานั้นอีก
  2. การเกิดปฏิกิริยาตรงบริเวณที่ฉีด เช่น เจ็บปวดบริเวณที่ฉีด เนื้อเยื่อไขมันบริเวณที่ฉีดฝ่อ ในการฉีดยาแต่ละครั้งควรเปลี่ยนบริเวณที่ฉีดใหม่
  3. การดื้อต่อฤทธิ์อินซูลิน (insulin resistance) ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เป็นผลไม่พึงประสงค์ที่พบได้เร็วหลังใช้ยาโกรทฮอร์โมนไม่นาน
  4. การเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่เป็นผลมาจากเมแทบอลิซึมที่ผิดปกติ (metabolic disease) เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง จึงไม่ควรใช้ยาเกินขนาดที่แนะนำและควรติดตามเฝ้าระวังความเสี่ยงเหล่านี้เมื่อต้องใช้ยาโกรทฮอร์โมนเป็นเวลานาน
  5. การเกิดแอนติบอดีต่อต้านยา พบน้อยและไม่รบกวนผลการรักษา
  6. ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง เนื่องจากสารไอจีเอฟ-1 มีฤทธิ์กระตุ้นการเจริญของเซลล์ จึงเป็นที่กังวลว่าการใช้ยาโกรทฮอร์โมนอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง อย่างไรก็ตามการใช้ในเด็กที่ขาดโกรทฮอร์โมนยังไม่พบความเสี่ยงนี้ ยาโกรทฮอร์โมนไม่ใช้กับผู้ป่วยโรคมะเร็ง
  7. ผลไม่พึงประสงค์อย่างอื่นที่อาจพบ เช่น เกิดการสะสมน้ำและอิเล็กโทรไลต์เฉียบพลัน ความดันโลหิตสูง ความดันในกะโหลกศีรษะสูง ปวดข้อ ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนหลั่งน้อย (hypothyroidism)

ข้อควรคำนึงเมื่อใช้ยาโกรทฮอร์โมน

  1. ผู้ที่ทำหน้าที่ฉีดยาอาจเป็นผู้ป่วยเองหรือผู้อื่น ควรผ่านการเรียนรู้ในการฉีดยาโกรทฮอร์โมนผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้ และศึกษาเอกสารที่เป็นคำแนะนำในการฉีดยาอย่างละเอียด
  2. ใช้ยาตามขนาดที่แนะนำ การใช้ยาเกินขนาดจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดผลไม่พึงประสงค์ทั้งชนิดที่เกิดเฉียบพลันและผลในระยะยาว
  3. ควรรับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่อย่างเพียงพอโดยเฉพาะโปรตีนและแคลเซียม และออกกำลังกายสม่ำเสมอ เป็นการส่งเสริมการเจริญเติบโตของร่างกายและความแข็งแรงของกระดูก
  4. ควรฉีดยาอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำ การลืมฉีดยาจะทำให้ประสิทธิภาพของยาเกิดได้ไม่เต็มที่ และอาจเป็นสาเหตุทำให้เข้าใจผิดว่าขนาดยาที่ใช้อยู่นั้นไม่เพียงพอ
  5. การฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง อาจฉีดบริเวณท้อง ต้นแขน สะโพกส่วนก้น หรือต้นขา ให้เปลี่ยนบริเวณที่ฉีดในแต่ละครั้งเพื่อไม่ให้เกิดการฝ่อของเนื้อเยื่อไขมันตรงที่ฉีด
  6. เข้ารับการตรวจร่างกายตามนัด เพื่อประเมินด้านประสิทธิภาพของยาและการเฝ้าระวังผลไม่พึงประสงค์ของยาที่อาจเกิดขึ้น
----------------
อ่านบทความต้นฉบับได้ที่นี่
Name

กระดูกและข้อ,9,การใช้สมุนไพร,13,เกร็ดความรู้สุขภาพ,28,ข้อมูลเกี่ยวกับโรค,83,คลินิกควบคุมน้ำหนัก,16,คลินิกจิตเวช,30,ช่วง Q&A,1,เตือนภัยสุขภาพคุณผู้หญิง,22,ประเด็นสุขภาพที่ควรรู้,130,พบหมอฟัน,1,ระบบสืบพันธุ์,1,รู้ทันโควิด 19-Covid-19,25,โรคความดัน,5,โรคไต,18,โรคเบาหวาน,4,โรคผิวหนัง,15,โรคระบบทางเดินอาหาร,1,เวชศาสตร์ชะลอวัย,22,สุขภาพตา,5,หูคอจมูก,5,อาหารและยา,72,
ltr
item
ไขปัญหาเรื่องสุขภาพ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง: เด็กเติบโตช้าและตัวเตี้ยเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเจริญเติบโตอย่างไร
เด็กเติบโตช้าและตัวเตี้ยเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเจริญเติบโตอย่างไร
ความสำคัญของโกรทฮอร์โมนต่อการเจริญเติบโตของเด็ก
https://blogger.googleusercontent.com/img/a/AVvXsEiX9nAV8eUGGR6aeO43Gpr2ZQ3Jbe06LxG7KyImfLwulexz4nirNhRcXgBQFTkSoarqyrt_lzGmm4-nPXyxCUAnI0si53wddRcVXagGZqRbiz5w_vNuF8zgGpRBzUOwe03_s4r2jKnmPPIYhf764TrDHzb9V7Rsky4X_ZUak9GB-JkH3dDWh3tASlfh=w320-h218
https://blogger.googleusercontent.com/img/a/AVvXsEiX9nAV8eUGGR6aeO43Gpr2ZQ3Jbe06LxG7KyImfLwulexz4nirNhRcXgBQFTkSoarqyrt_lzGmm4-nPXyxCUAnI0si53wddRcVXagGZqRbiz5w_vNuF8zgGpRBzUOwe03_s4r2jKnmPPIYhf764TrDHzb9V7Rsky4X_ZUak9GB-JkH3dDWh3tASlfh=s72-w320-c-h218
ไขปัญหาเรื่องสุขภาพ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
https://www.yinyang.in.th/2021/10/blog-post_20.html
https://www.yinyang.in.th/
https://www.yinyang.in.th/
https://www.yinyang.in.th/2021/10/blog-post_20.html
true
6588637073179937695
UTF-8
Loaded All Posts Not found any posts ดูทั้งหมด อ่านเพิ่มเติม Reply Cancel reply Delete By หน้าหลัก หน้า บทความ View All บทความแนะนำ หมวด ARCHIVE สืบค้น ALL POSTS ไม่พบข้อมูลที่คุณกำลังค้นหาค่ะ กลับสู่หน้าแรก Sunday Monday Tuesday Wednesday Thursday Friday Saturday Sun Mon Tue Wed Thu Fri Sat January February March April May June July August September October November December ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค. just now 1 minute ago $$1$$ minutes ago 1 hour ago $$1$$ hours ago Yesterday $$1$$ days ago $$1$$ weeks ago more than 5 weeks ago Followers Follow THIS PREMIUM CONTENT IS LOCKED STEP 1: Share to a social network STEP 2: Click the link on your social network Copy All Code Select All Code All codes were copied to your clipboard Can not copy the codes / texts, please press [CTRL]+[C] (or CMD+C with Mac) to copy