เชื่อข้อมูลจากคนที่ไม่ใช่หมอ อันตรายถึงชีวิตได้
โรคภูมิแพ้ สิ่งที่หลายคนยังเข้าใจผิดมาตลอด
รายงานพิเศษหัวข้อ : โรคภูมิแพ้ เข้าใจผิด...ชีวิตเปลี่ยนบรรยายโดย : อ.นพ.มงคล สมพรรัตนพันธ์
(อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ สาขาวิชาโรคภูมิแพ้และอิมมูโนวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล )
ที่มาคลิป : พบหมอมหิดล
ในยุคที่ข้อมูลต่าง ๆ สามารถหาได้จาก internet ในยุคที่ผู้คนส่วนใหญ่นิยมเชื่อข้อมูลจากคนที่ไม่ใช่หมอ ทำให้เกิดความเชื่อต่าง ๆ มากมายที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตเมื่อนำไปปฏิบัติตาม วันนี้คุณหมอมงคล สมพรรัตนพันธ์ จะมาไขข้อข้องใจ ความเชื่อผิดต่าง ๆ เกี่ยวกับโรคภูมิแพ้โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากขึ้นในสังคมไทยนะครับ ปัจจุบันผู้ป่วยหลายราย ก็หาข้อมูลกันทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งอาจจะมีทั้งส่วนที่ถูกต้อง แล้วก็ยังเป็นส่วนที่เข้าใจผิดปะปนกันมา
ความเชื่อข้อที่ 1 แพ้อาหาร ต้องกินให้หายแพ้?
ความเชื่อที่ว่า คนไข้ที่เป็นโรคแพ้อาหารแล้ว ก็พยายามทดลองกินอาหาร ก็หวังว่าวันหนึ่งจะชนะโรคนี้ อันนี้ก็ เข้าใจผิด ที่เราเจอได้บ่อยนะครับ การลองรับประทานอาหารเอง โดยลองชิมอาหารที่แพ้ทีละน้อยเนี่ย ผมไม่แนะนำ เนื่องจาก การทำดังกล่าวนั้นอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ มีเคสที่คนไข้คนหนึ่ง เขาก็แพ้กุ้ง เขาก็อยากจะลองกินกุ้งแต่ละชนิดดู ว่าเขาแพ้อะไรบ้าง อาการคนไข้หลังจากกินกุ้งเข้าไป ก็มีอาการหน้าบวมมีผื่นขึ้นทั้งตัว แล้วก็แน่นหน้าอก เกือบเสียชีวิต เพราะว่าต้องไปนอนที่ห้อง ICU อยู่ 2 คืน นี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง คือ เนื่องจากความเข้าใจผิดความเชื่อข้อที่ 2 โรคภูมิแพ้รักษาแล้วหายขาด?
ความเชื่อที่ว่า โรคภูมิแพ้นั้น สามารถหายขาดได้หรือไม่เนี่ย อย่างโรคภูมิแพ้ในเด็ก เช่น การแพ้อาหาร บางโรคก็หายขาดได้เมื่อโตขึ้นมา อย่างเช่น การแพ้นม อาการแพ้ไข่ แต่สำหรับในผู้ใหญ่แล้วเนี่ย ก็ขึ้นอยู่กับเป็นโรคชนิดไหนด้วย แต่ส่วนใหญ่แล้ว โรคภูมิแพ้ที่เจอในผู้ใหญ่มักจะเป็นโรคเรื้อรัง อาจจะมีอาการกำเริบเป็นช่วง ๆ ตามแต่ฤดูกาลบ้าง ตามการเจ็บป่วย ตามการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้หรือมลภาวะทางอากาศนะครับความเชื่อข้อที่ 3 โรคภูมิแพ้ ไม่ต้องใช้ยา ออกกำลังกายก็หาย?
มีคนไข้หลายรายนะครับ ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ แล้วอยากจะขอหยุดยา แล้วก็ไปใช้วิธีธรรมชาติ ไปออกกำลังกาย การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดี แต่ในโรคภูมิแพ้บางโรคนั้นอาจจะต้องรักษาให้ดีก่อนที่จะไปออกกำลังกาย เนื่องจากอาจจะทำให้อาการของตัวโรคแย่ลง โดยเฉพาะอย่างเช่น โรคหืดนะครับ คนไข้ที่เป็นโรคหืด ที่ยังควบคุมอาการไม่ดี เราไม่ได้ใช้ยาแล้วไปออกกำลังกาย อาจจะเกิดผลเสียได้ เพราะการออกกำลังกายในตอนที่หืดยังไม่ดีนั้น บางรายมีอาการหลอดลมไว แล้วก็มีหลอดลมตีบในช่วงออกกำลังกาย ทำให้อาการคนไข้กำเริบและอาจจะแย่ลงได้นะครับ หมอก็แนะนำให้คนไข้รักษาใช้ยาอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งอาการดีขึ้นถึงจุดหนึ่งก่อน จากนั้น ถึงตามด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ภายใต้การดูแลของแพทย์นะครับ แต่ต้องทำในช่วงเวลาที่เหมาะสมและสามารถควบคุมอาการของโรคภูมิแพ้ได้ดีระดับหนึ่งแล้วนะครับความเชื่อข้อที่ 4 กินยาโรคภูมิแพ้ต่อเนื่อง เสี่ยงโรคไต?
ความเชื่อที่ว่าคนไข้ไม่อยากใช้ยาในระยะยาว เนื่องจากกลัวยาไปสะสมในตับบ้าง ในไตบ้าง ยาในปัจจุบันเรามีประสิทธิภาพสูง และในขณะที่ผลข้างเคียงก็ต่ำลง เมื่อเทียบกับยุคก่อน หากเราไม่ใช้ยาในขณะที่เราเป็นโรคภูมิแพ้ ที่ยังควบคุมไม่ได้ อย่างเช่น โรคหืดแบบนี้ย่อมส่งผลต่ออาการที่รุนแรงขึ้นของโรคหืด อาจจะมีอาการกำเริบ มีหลอดลมตีบอันตรายถึงแก่ชีวิตได้นะครับ ดังนั้นโดยสรุปแล้ว นะครับ คนไข้ที่เป็นโรคภูมิแพ้เนี่ยสามารถใช้ยาได้ภายใต้การดูแลของแพทย์นะครับ เพราะแพทย์จะเลือกยาที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละรายอยู่แล้ว ไม่ต้องกังวลนะครับ ว่ายาจะไปสะสมที่ตับ ที่ไต จนกระทั่งเราละเลยในการดูแลรักษาโรคภูมิแพ้ให้ได้อย่างเหมาะสมนะครับความเชื่อข้อที่ 5 กินอาหารเสริม รักษาภูมิแพ้ได้?
ก็มีคนเข้ามาถามหมอเรื่องอาหารเสริมเพื่อป้องกัน หรือเพื่อรักษาโรคภูมิแพ้ในผู้ใหญ่เองเนี่ย เราก็ยังมีข้อมูลจำกัดและยังไม่มีคำแนะนำให้ใช้อาหารเสริมชนิดใดเป็นพิเศษ เพื่อรักษาหรือเพื่อป้องกันโรคภูมิแพ้นะครับ ปัจจุบันหมอก็แนะนำให้คนไข้ดูแลสุขอนามัยของร่างกาย เช่น การทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ แล้วก็ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เมื่ออาการภูมิแพ้ควบคุมได้ดีแล้วนะครับสุดท้ายนี้นะครับเรื่องความเชื่อต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับด้านภูมิแพ้ ไม่ว่าจะค้นมาจากแหล่งไหนก็ตาม หมอเองก็แนะนำว่า ถ้ามีความเชื่อไหน ที่ยังไม่แน่ใจ ก็ควรมาปรึกษาแพทย์ที่ดูเรื่องโรคภูมิแพ้โดยตรง เพื่อจะได้ให้คำแนะนำ การดูแลรักษาได้อย่างถูกต้องและก็เหมาะสมต่อไปนะครับ
[ขอขอบคุณ อาจารย์นายแพทย์ มงคล สมพรรัตนพันธ์ อย่างสูง ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย]
[ถอดคำบรรยายจากคลิปคุณหมอ โดย หยินหยาง]
[โปรดแชร์ บทความนี้ ให้กับคนที่คุณรักและเป็นห่วงที่สุดด้วย นะครับ]
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ช่อง YouTube | Mahidol Channel : https://www.youtube.com/mahidolchannel
Facebook | https://www.facebook.com/mahidolchannel
Mahidol University มหาวิทยาลัยมหิดล | https://www.mahidol.ac.th/th
Website | https://www.mahidolchannel.com | https://channel.mahidol.ac.th/
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล | https://www.si.mahidol.ac.th/th/