วิถีของอารมณ์ดีต้องทำอย่างไร
- บทบรรยายพิเศษโดย
- ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี
- ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์
- ที่มา : HealthToday Magazine, No.205 May 2018
เมื่อพูดถึง “โรคภัยไข้เจ็บ” แน่นอนว่าไม่มีใครอยากเจ็บป่วย ไม่ว่าจะมีอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ ตั้งแต่เป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล ไปจนกระทั่งร้ายแรงอย่างโรคมะเร็ง โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต จริงอยู่ที่ความเจ็บป่วยบางอย่างอาจ หลีกเลี่ยงได้ลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีเรื่องของอายุเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามมีโรคภัยไข้เจ็บอีกเป็นจำนวนมากที่เราสามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงการเกิดโรคได้ด้วยตัวเราเองHealthToday ฉบับนี้ได้รับเกียรติจาก ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ วาระ ปี พ.ศ. 2559 – 2561 หรือที่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาและเพื่อนร่วมงานเรียกขานกันว่า “อาจารย์อมร” มาอัพเดตสถานการณ์สุขภาพในประเทศไทย พร้อมทั้งเปิดเผยเคล็ดลับสุขภาพดีที่ทำให้อาจารย์ยังคงแข็งแรง กระฉับกระเฉง และเต็มที่กับทุกงานแม้อายุจะเข้าสู่วัยเลขเจ็ดแล้วก็ตาม
NCDs โรคฮิต ชีวิตยุคใหม่
เมื่อเอ่ยถึงสถานการณ์สุขภาพของคนไทยในขณะนี้ ในฐานะอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและยาต้านจุลชีพ อาจารย์อมรมองว่าปัจจุบันโรคติดเชื้อกลับกลายเป็นโรคที่น่ากังวลน้อยกว่าเนื่องจากเราสามารถควบคุมได้ดี มีวัคซีนหรือวิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ ถึงแม้จะมีการแพร่ระบาดบ้างเป็นครั้งคราวเนื่องจากเชื้อโรคมีความดุร้ายหรือดื้อยามากขึ้น แต่ก็สามารถดูแลจัดการให้สถานการณ์สงบลงได้ ต่างจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือที่หลายคนอาจคุ้นหูกันในชื่อ โรคเอ็นซีดี (Non-communicable diseases, NDCs) ที่จำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน ซึ่งอาจารย์อมรกล่าวว่าเป็นโรคขาประจำที่ พบบ่อยในแผนกโอพีดี (Outpatient department, OPD หรือ แผนกผู้ป่วยนอก) ที่น่าเป็นห่วงคือโรคเหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคไตพิการเรื้อรัง ตัน เป็นต้น“ในยุคนี้อาหารการกินหาง่าย มีของอร่อยเยอะ เราจึงกินเกินพอดีทั้งในแง่ปริมาณและรสชาติ จากการสำรวจพบว่า คนไทยบริโภคเกลือเกินกว่าปริมาณที่ควรได้รับในแต่ละวันเฉลี่ย 2-3 เท่า พอกินเค็ม ความดันโลหิตก็สูงขึ้น ตามมาด้วยหลอดเลือดเสื่อม บวกกับไขมันและอายุที่มากขึ้น ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดตีบ ตัน แตกในที่สุด เป็นอะไรที่เราพบได้บ่อย หากแก้ไขไม่ทันตั้งแต่ระยะแรกเริ่มที่เกิดพยาธิสภาพ ก็จะเกิดพยาธิสภาพที่ถาวรทำให้อวัยวะพิการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
อย่างโรคหลอดเลือดสมองที่ไปเลี้ยงสมองเกิดมีการตีบตันชั่วคราว ทำให้เกิดแขนขาข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง พูด ไม่ชัด ปากเบี้ยว เกิดอาการขณะที่ผู้ป่วยอยู่ที่บ้าน เป็นอยู่ 10 นาทีแล้วหายไป พอผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาล อาการ ดังกล่าวหายไปแล้ว แพทย์ตรวจไม่พบความผิดปกติแล้ว ต้องเชื่อผู้ป่วยอย่างเดียว อันนี้เป็นสัญญาณอย่างหนึ่งของ Transient Ischemic Attack (หรือ TIA) ที่บ่งบอกว่าหลอดเลือดสมองอุดตันชั่วคราว และเป็นสัญญาณเตือนว่าในอีก 7-14 วันข้างหน้าจะมีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้สูง โดยครั้งหน้าหลอดเลือดจะอุดตันแบบถาวรและทำให้เกิดความพิการถาวรได้ ผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวจึงต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยรักษา ที่เล่ามานี้เป็นเพียงตัวอย่างของปัญหาสุขภาพที่เชื่อมโยงมาจากพฤติกรรมการกินที่เกินพอดีเท่านั้น จึงอยากให้เราทุกคนดูแลเรื่องอาหาร ลดหวาน มัน เค็ม ใช้พลังงานบ้าง เช่น เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ และสุดท้ายคือ มีอารมณ์ขัน จิตใจสงบ จะช่วยให้มีสุขภาพกายและใจที่ดี”
รวยอารมณ์ขัน ขยันออกกำลังกาย เทคนิคง่าย ๆ กาย-ใจแข็งแรง
เมื่อถามถึงเคล็ดลับเด่น ๆ ในการดูแลสุขภาพ อาจารย์อมรเผยว่า หลัก ๆ แล้วที่ต้องดูแลมีอยู่ 2 อย่างคือ กาย กับ ใจ เพราะสองสิ่งนี้จะอยู่คู่กันเสมอ“การดูแลกาย ผมเน้นที่การออกกำลังกาย เป็นคนที่ชอบเล่นกีฬามาก ชอบ ตีปิงปอง แบดมินตัน เล่นมาตั้งแต่มัธยมจนกระทั่งเป็นหมอก็ยังเล่นอยู่ เล่น กับเพื่อนอาจารย์ด้วยกันเป็นส่วนใหญ่ ส่วนกอล์ฟนี่มาเล่นทีหลัง พออายุสี่สิบกว่า ๆ เพื่อนก็มาชวนให้เล่นกอล์ฟ ให้เหตุผลว่าเล่นแบดฯ มันต้องวิ่งต้องกระโดดคงไม่เหมาะกับวัยเท่าไร เล่นกอล์ฟดีกว่า เล่นได้จนกระทั่งแก่ จึงลองไปเรียนดูพร้อมกับกลุ่มเพื่อน ๆ อีกสี่ห้าคน ปรากฏว่าเรียนแป๊บเดียวก็ตีได้ เลยเล่นมาเรื่อยๆ เมื่อก่อนจะเล่นทุกวันอาทิตย์ ช่วงงานเยอะก็อาจจะมีเว้น ๆ ไปบ้าง
การออกกำลังกายไม่เพียงดีต่อร่างกายเท่านั้น แต่ยังดีต่อจิตใจด้วย เพราะผมเล่นกีฬากับกลุ่มเพื่อน ๆ ที่สนิทกัน ระหว่างเล่นก็จะมีพูดคุย แซว หัวเราะ เฮฮา สนุกสนานกันไป มีอารมณ์ขัน คนอื่นจะรู้สึกว่า ผมไม่ได้ใช้สมาธิในการเล่นเลย แหกกฎการเล่นกอล์ฟคือ ผมตีไปพูดไปก็ได้ ในขณะที่คนอื่นต้องตั้งสมาธิและเงียบเวลาตีหรือพัตกอล์ฟและห้ามเพื่อนร่วมวงพูดให้มีเสียงดัง การเล่นทำให้จิตใจผ่อนคลาย สุขภาพจิตดี ตัวชี้วัดที่สำคัญว่าเรามีสุขภาพกายและใจที่ดีหรือไม่คือ ระยะเวลาของการนอนหลับที่ดี ถ้าหลับยาวและหลับสนิทอย่างที่เขาพูดกันว่าหลับเป็นตาย อย่างนี้ถือว่าดี แต่ถ้านอนหลับ ๆ ตื่น ๆ หลับไม่สนิท แบบนี้คือมีปัญหา ต้องหาสาเหตุและแก้ไข ดังนั้นใครที่ชีวิตเคร่งเครียด ขาดเสียงหัวเราะ ผมแนะนำให้หาตัวช่วยคือหาเพื่อนที่มีอารมณ์ขัน ถ้าไม่มี ให้ลองไปออกกำลังกาย เป็นการกระตุ้นวงจรต่าง ๆ ในร่างกายที่ขาดการใช้งานมานานให้ตื่นตัว หลังจากออกกำลังกาย เมื่ออาบน้ำเสร็จ เราจะรู้สึกสดชื่น ปลอดโปร่ง โล่งสบาย แบบนี้แสดงว่าโอเค รูปแบบการออกกำลังกายแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของ แต่ละคน จึงไม่มีคำว่าสายเกินไปที่จะเริ่มต้น แต่ถ้าจะให้ดีควรเริ่มตั้งแต่เด็ก”
ปล่อยวาง ทำในสิ่งที่ชอบ อีกหนึ่งวิถีสุขภาพดี
นอกจากการมีอารมณ์ขันและขยันออกกำลังกายแล้ว ยังมีอีกสองสิ่งที่อาจารย์อมรคิดว่าน่าจะเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้อาจารย์สุขกายสบายดี สมกับที่เป็นต้นแบบสุขภาพ นั่นก็คือ การรู้จักปล่อยวาง และ การได้ทำในสิ่งที่ชอบและเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น“ในแต่ละวันเราต้องพบเจอกับเรื่องราวมากมายทั้งร้ายและดี ที่สำคัญคือเราต้องรู้จักปล่อยวางในสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีคนมาว่าเราในทางไม่ดี อันดับแรกคือควรพิจารณาก่อนว่าสิ่งที่เขาว่านั้นเป็น ความจริงหรือเปล่า เราต้องปรับปรุงตนเองไหม หากพิจารณาดูแล้วพบว่าไร้สาระก็ปล่อยวางเสีย อย่าไปเก็บมาคิดโกรธหรือโต้กลับ อย่าไปเสียเวลาโต้ตอบหรือแก้แค้นใคร เพราะคุณจะเสียเวลาไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง เป็นการทำร้ายจิตใจตัวเองทางอ้อม(ถึงแม้คุณจะรู้สึกสะใจกับการไปทำอะไรแก้แค้นอย่างนั้น) หรือในการทำงานก็อย่าไปยึดติดว่าจะต้องได้รับ คำชมหรือรางวัลจากคนอื่น เพราะเราย่อมรู้ตัวเองดีว่าเราทำดีทำเต็มที่แล้วหรือยัง เมื่อเราไม่เสียเวลาไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง เราก็มีเวลาไปทำเรื่องที่อยากทำ ทำสิ่งที่เราชอบ โดยส่วนตัวแล้วผมชอบในเรื่องวิชาการ ชอบอ่านหนังสือ อ่านนิพนธ์ต้นฉบับในวารสารที่มีชื่อเสียงต่าง ๆ คือรู้สึกสนุกที่ได้ทราบ ความคิดหรือสมมติฐานของนักวิจัยผู้อื่น เสร็จแล้วก็รวบรวมข้อมูลความรู้ทางการแพทย์ที่ได้มาเขียน สื่อให้คนอื่น ๆ ได้รู้ด้วย ที่ผ่านมาผมก็ทำวารสาร ช่วยทำวารสารโรคติดเชื้อ ก็มีคนชอบอ่าน บอกว่าเราเขียนรู้เรื่อง ทำไปนานถึงสิบกว่าปีจึงต้องหยุดเพราะต้องมารับตำแหน่งนายกสมาคมโรคติดเชื้อ ฯ เป็นต้น รู้สึกมีความสุขที่ได้ทำตรงนี้ตัวชี้วัดที่สำคัญคือ ทำงานต่อไปได้เรื่อย ๆ จนลืมนึกถึงเวลา จนกระทั่งอายุ 40 กว่าพ่อมาทวงว่าเมื่อไรจะเปิดคลินิกสักที เพราะเราสนุกกับการทำงานวิชาการจึงไม่ได้เน้นตรงนั้น สุดท้ายเลยได้เปิดคลินิกตอนอายุ 40 เพราะพ่อขอให้เปิด แต่ถึงจะยุ่งยังไงผมก็ยังจัดสรรเวลาทำเรื่องที่ชอบได้อยู่ และคิดว่าคงเป็นเพราะการรู้จักปล่อยวางบวกกับได้ทำงานที่ชอบจึงทำให้ผมสุขภาพจิตดี ส่งผลดีต่อร่างกายในภาพรวม”
50 ปี แพทยสภา เพื่อแพทย์และประชาชน
เนื่องในโอกาสครบ 50 ปีแพทยสภาในปีนี้ แพทยสภาจึงได้มีการจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์และน่าสนใจหลายอย่าง รวมทั้ง “การประชุมวิชาการครบ 50 ปีแพทยสภา” โดยมีอาจารย์อมรเป็นหนึ่งในคณะทำงานผู้ดูแลรับผิดชอบใน ส่วนนี้ จุดเด่นรวมของการประชุมวิชาการในครั้งนี้คือ การเพิ่มหรือการสร้าง trust ในหมู่ประชาชนและสมาชิกแพทย์ว่า แพทยสภามีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะผดุงความยุติธรรมให้แก่ประชาชนและสมาชิกแพทย์ จึงมีการนำประเด็นต่างๆ ทางการแพทย์ในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมาสรุป ทบทวน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และต่อยอดพัฒนา เรื่องใดที่ทำได้ดีอยู่แล้วก็ทำต่อไป เรื่องใดที่ยังเป็นปัญหาหรือต้องพัฒนาต่อก็นำมาจัดการประชุมเพื่อหาแนวทางดำเนินการ ต่อไป ซึ่งนอกจากการประชุมวิชาการในส่วนของแพทย์แล้ว ยังมีกิจกรรมภาคประชาชนด้วย บุคคลทั่วไปสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้โดยไม่เสียค่าลงทะเบียนเลย ส่วนนักศึกษาแพทย์ แพทย์จบใหม่ หรือแพทย์ประจำบ้านจะเกิดประโยชน์มากในการประกอบวิชาชีพถ้าได้มาเข้าฟัง แพทยสภาก็ยกเว้นค่าลงทะเบียนให้เช่นกัน การประชุมครั้งนี้ มีการประชุมรับฟังความเห็นของสมาชิกแพทยสภาในวันศุกร์ที่ 22 มิถุนายนด้วย“กิจกรรมภาคประชาชนมีหัวข้อที่น่าสนใจหลายเรื่อง เช่น ความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับการรักษา ที่เลือกหัวข้อนี้เพราะการจะสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน ส่วนหนึ่งคือประชาชนต้องมีความเข้าใจในสิ่งที่หมอทำ เพราะฉะนั้นอะไรที่ประชาชนไม่เข้าใจ เราก็จะมาอธิบายให้เข้าใจให้มากขึ้น แน่นอนว่าเวลาเพียงชั่วโมงเดียวอาจไม่พอ ดังนั้นเราจึงวางแผนจัดทำการ์ตูนแอนิเมชั่นเพื่อเผยแพร่ข้อมูลสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนให้มากขึ้น คาดว่าภายในปีนี้จะได้รับชมกันอย่างแน่นอน
ฝั่งประชาชนจะมาฟังในหัวข้อที่ควรรู้หรือเป็นหัวข้อที่ชอบมาถามหมอ เช่น อยากให้ลูกเป็นหมอต้องทำอย่างไร ซึ่งเป็นประเด็นที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน ที่พ่อแม่อยากให้ลูกเรียนหมอ แต่ลูกไม่อยากเรียน ทำให้เกรดตก คะแนนสอบไม่ดี และตามมาด้วยปัญหาอื่น ๆ ซึ่งเรามองว่าการช่วยให้พ่อแม่รวมทั้งตัวเด็กเองเข้าใจว่าเส้นทางของการเป็นหมอต้องผ่านอะไรบ้าง คุณสมบัติของผู้เรียนควรเป็นอย่างไร น่าจะช่วยลดปัญหาตรงนี้ลงได้บ้าง ท่านใดสนใจก็สามารถเข้ามาฟังได้ โดยกิจกรรมภาคประชาชนจะจัดขึ้นในวันที่ 22 มิถุนายน 2561 ที่อิมแพค ฟอรั่ม ชั้น 2 เมืองทองธานี นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรมออกร้าน มีบูธแสดงความก้าวหน้าทางการแพทย์จากสถาบันต่าง ๆ ตลาดนัดสุขภาพ สามารถเดินเที่ยวชมกันได้”
งานประชุมวิชาการครบ 50 ปีแพทยสภาจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-22 มิถุนายน 2561 ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.50yearstmc.com ซึ่งจะมีรายละเอียดของทุกกิจกรรมที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบ 50 ปีแพทยสภา อย่าลืมติดตามกันนะคะ เพราะยังมีกิจกรรมดี ๆ รอให้เราได้เข้าร่วมอีกหลายรายการเลยทีเดียว
ขอขอบคุณบทความดี ๆ จาก
www.healthtodaythailand.in.th
[โปรดแชร์ บทความนี้ ให้กับคนที่คุณรักและเป็นห่วงที่สุดด้วย นะครับ]