รู้จักวิธีคุมกำเนิดที่ถูกต้องและปลอดภัย
บทความโดย
พ.ต. นพ. จักรพันธ์ ศุภเดช
สูติศาสตร์-นรีเวชศาสตร์ (อนุสาขาเวชศาสตร์เจริญพันธ์)
นพ. วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ผู้ชายและผู้หญิง เมื่อโตเป็นหนุ่มสาวก็พร้อมที่จะสร้างครอบครัวและมีบุตร ในปัจจุบันวัฒนธรรม ค่านิยมแบบสังคมตะวันตกเริ่มเข้ามาในประเทศทำให้คนมีเพศสัมพันธ์ในช่วงอายุน้อยลง สภาวะเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้จำเป็นต้องมีการวางแผนครอบครัวเพื่อกำหนดจำนวนบุตร และระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อที่คู่สมรสจะได้มีเวลาสร้างฐานะ และปรับตัว การคุมกำเนิดที่มีให้เห็นอยู่ทั่วไปเช่น การรับประทานยาคุมกำเนิดซึ่งสามารถวางขายตามร้านขายยา ท่านผู้อ่านสามารถซื้อหามารับประทานได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ แต่ท่านทราบหรือไม่ ว่ายาคุมกำเนิดก็มีผลเสีย หากใช้ไม่ระวังก็สามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงของยา นอกจากเหตุผลดังกล่าวปัญหายังมีเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทำให้ท่านผู้อ่านต้องเรียนรู้ และสามารถเลือกวิธีคุมกำเนิดได้อย่างถูกต้องหลักการคุมกำเนิดคือการป้องกันไม่ให้อสุจิของฝ่ายชายปฏิสนธิกับเซลล์ไข่ของฝ่ายหญิง หรือหากปฏิสนธิก็เป็นการป้องกันไม่ให้ตัวอ่อนนั้นฝังตัวที่มดลูก ซึ่งมีวิธีการต่างๆ หลายวิธี การคุมกำเนิดในปัจจุบันมีมากมายหลายวิธีให้เลือกตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล เช่น การใช้ยาคุมกำเนิด การใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งปัจจุบันมีทั้งของเพศชายและเพศหญิง การใช้หมวกครอบปากมดลูก การใช้ฟองน้ำ การใช้สารฆ่าเชื้ออสุจิ การใช้ฮอร์โมนแท่งฝังใต้ผิวหนัง หรือการคุมกำเนิดโดยวิธีธรรมชาติคือการนับวัน และการหลั่งน้ำอสุจินอกช่องคลอด ซึ่งวิธีการเหล่านี้ถือเป็น การคุมกำเนิดชั่วคราว คือถ้าหยุดคุมกำเนิดก็จะกลับมาตั้งครรภ์ได้ และอีกวิธีหนึ่งที่เรียกว่าการทำหมัน ถือเป็นการคุมกำเนิดแบบถาวร โดยการผ่าตัดท่อนำไข่ให้ขาดจากกัน หรือการทำให้ท่อนำไข่อุดตัน หรือการการทำหมันถาวรในชายโดยการตัดผูกท่อนำอสุจิ
สำหรับการที่จะเลือกใช้วิธีใดให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของผู้ขอรับบริการ ควรจะต้องตอบคำถามเหล่านี้ก่อน
- ลักษณะสม่ำเสมอของรอบระดูเป็นอย่างไร
- ความถี่ห่างของการมีเพศสัมพันธ์เป็นอย่างไร
- ลักษณะงานของท่านที่จะทำให้ท่านสามารถทานยาได้ตรงเวลาหรือไม่
- การตั้งครรภ์ที่อาจจะเกิดขึ้น จะมีอันตรายต่อสุขภาพมากน้อยเพียงไร
- ท่านยังต้องการมีบุตรอีกหรือไม่
- ท่านมีความเสี่ยงต่อการใช้ฮอร์โมนบ้างหรือไม่ เช่นกรณีที่ท่านสูบบุหรี่ อายุเกิน 35 ปี มีโรคความดันโลหิตสูง เบาหวานหรือไม่
- ถือเป็นข้อที่จำเป็นที่สุดคือ ท่านต้องขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อน เพื่อเลือกวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสมกับท่าน
การเลือกวิธีคุมกำเนิด
- การเลือกวิธีคุมกำเนิดขึ้นกับปัจจัยหลายๆ อย่างเช่น สุขภาพ ความถี่ของการมีเพศสัมพันธ์ จำนวนของคู่นอน ความต้องการมีบุตรในอนาคต
- วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการตั้งครรภ์ และปลอดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์คือการไม่มีเพศสัมพันธ์
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอควรจะใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีด ใส่ห่วง
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ไม่บ่อย ให้ใช้ ถุงยางอนามัย
- ผู้ที่มีคู่นอนหลายคนหรือต้องการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ให้ใช้ถุงยางอนามัย
- ถ้าไม่แน่ใจว่าแฟนมีโรคติดต่อหรือไม่ไม่ควรที่จะมีเพศสัมพันธ์ด้วย
- ผู้มีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการวางแผนเช่น ถูกข่มขืนควรใช้ยาคุมชนิดหลังร่วมเพศ
- นอกจากปัจจัยดังกล่าวยังต้องพิจารณาถึงประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดด้วยตารางแสดงประสิทธิภาพของการคุมกำเนิด
เมื่อคุมกำเนิดอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะเวลา 1 ปี ในสตรี100คน จะพบว่ามีอัตราการตั้งครรภ์ดังนี้
- ตั้งครรภ์น้อยกว่า 1% ได้แก่ การฝังยา, การใส่ห่วงอนามัย, การทำหมันหญิง
- ตั้งครรภ์ 6-12% ได้แก่ การฉีดยาคุมกำเนิด, การใช้ยากินคุมกำเนิด, แผ่นแปะผิวหนังคุมกำเนิด, ห่วงวงแหวนใส่ช่องคลอด, หมวกครอบปากมดลูก
- ตั้งครรภ์ มากกว่า18% ได้แก่ ถุงยางอนามัย, สารเคมีฆ่าตัวอสุจิ, การนับวันปลอดภัย
วิธีการคุมกำเนิดโดยการนับวันที่ที่ปลอดภัย
- การนับวันที่ที่ปลอดภัย หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า "ก่อน 7 หลัง 7" ซึ่งหมายถึงนับจากวันที่มีประจำเดือนคราวที่แล้ว โดยคาดการณ์ว่าประจำเดือนจะมาอีกครั้งเป็นวันที่เท่าไร โดยช่วงก่อนประจำเดือนรอบใหม่มา 7 วัน และนับจากที่มีประจำเดือนมา ต่อไปอีก 7 วัน เบ็ดเสร็จรวม 14 วัน นับเป็นช่วงที่ปลอดภัย
- เป็นวิธีการควบคุมกำเนิดแบบวิถีธรรมชาติ ทั้งนี้ในการนับจะได้ผลดีเมื่อมีรอบเดือนมาสม่ำเสมอ เป็นรอบที่แน่นอน แต่ก็เสี่ยงต่อการจำวันผิดพลาด ถ้าไม่ได้มีการจดบันทึก
- อีกประการหนึ่งคือ ช่วงที่มีประจำเดือนปากมดลูกจะเปิดเพื่อให้ขับเลือดออก ถ้ามีเพศสัมพันธ์ช่วงนั้นมีโอกาสที่จะติดเชื้อทำให้มดลูกอักเสบ มีมากกว่าช่วงปกติ เพราะเชื้ออสุจิจะนำเอาเชื้อโรคภายนอก เข้าสู่โพรงมดลูกที่มีการลอกหลุดทำให้เกิดปัญหาได้
วิธีการคุมกำเนิดหลังมีเพศสัมพันธ์
- การนำวิธีคุมกำเนิด มาใช้หลังจากมีเพศสัมพันธ์แล้ว พบได้มากในสังคมปัจจุบัน เพราะมีอิสระในการหาซื้อยา และมีอิสระในเรื่องเพศ
- วิธีการคุมกำเนิดหลังมีเพศสัมพันธ์มีหลายวิธี เช่น การรับประทานยาคุมกำเนิดที่มีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง เพื่อป้องกันการฝังตัวของตัวอ่อน โดยเพิ่มการเคลื่อนไหว บีบตัวของมดลุกและท่อนำไข่ ทำให้การผสมกันระหว่างไข่ และเชื้ออสุจิเป็นไปได้ยาก ยากลุ่มนี้ชื่อ ออพรอล (Ovral) โดยรับประทานครั้งเดียว 4 เม็ด หลังร่วมเพศ พบว่า มีผลคุมกำเนิดหลังมีเพศสัมพันธ์ได้ อาการข้างเคียงจากยา คือ คลื่นไส้ อาเจียน พบได้บ่อย ปัจจุบันจึงไม่ค่อยนิยมใช้กัน
- ยาอีกชนิดที่นำมาใช้คือ โพสตินอร์ (Postinor) ซึ่งมีปริมาณโปรเจสตินสูง เป็นยาที่นิยมใช้เพื่อคุมกำเนิดฉุกเฉินหลังมีเพศสัมพันธ์อย่างแพร่หลาย แต่ความเป็นจริงแล้ว ไม่ควรรับประทานมากกว่า 4 เม็ดต่อเดือน และควรใช้หลังร่วมเพศภายใน 3 ชั่วโมง ไม่ควรเกิน 12 ชั่วโมง แต่อาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้
- การใช้ห่วงอนามัยคุมกำเนิดหลังมีเพศสัมพันธ์ก็มีการนำมาใช้ โดยใส่ห่วงอนามัยภายใน 5 วันหลังมีเพศสัมพันธ์ นับว่าป้องกันการตั้งครรภ์ก็ได้ผลดี
ยาเม็ดคุมกำเนิด
- ปัจจุบันวิธีคุมกำเนิดที่ได้รับความนิยมสูงสุด และใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกคือ การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด สำหรับประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน มีสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่แต่งงาน ปัจจุบันยาเม็ดคุมกำเนิดมีประสิทธิภาพสูงมาในการป้องกันการตั้งครรภ์ และมีอาการข้างเคียงรวมทั้งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการเผาผลาญอาหารของร่างการน้อย นอกจากนี้ยาเม็ดคุมกำเนิดยังมีประโยชน์ในการลดโอกาสเกิดโรคต่างๆ ทางนรีเวช เช่น การตั้งครรภ์นอกมดลูก ถุงน้ำรังไข่ และการอักเสบในอุ้งเชิงกราน เป็นต้น
- ยาเม็ดคุมกำเนิดที่ใช้กันโดยทั่วไปเป็นชนิดฮอร์โมนรวม ซึ่งหมายถึง ฮอร์โมนสังเคราะห์เอสโตรเจนและโปรเจสติน ฮอร์โมนทั้งสองชนิดมีหน้าที่หลักในการระงับการตกไข่ และทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่เหมาะสมกับการฝังตัวของไข่ที่ถูกผสมแล้ว นอกจากนี้โปรเจสตินยังทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียวข้น ทำให้อสุจิผ่านได้ยาก และมีผลโดยตรงต่อตัวอสุจิทำให้ไม่สามารถผสมกับไข่ได้
- การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด ควรเริ่มรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดแรกในวันที่ 5 วันแรกของรอบเดือนและควรรับประทานหลังอาหารในเวลาเดียวกันทุกวัน สำหรับยาคุมชนิด 28 เม็ด ให้รับประทานเรียงตามลูกศรติดต่อกันทุกวัน เมื่อหมดแผงแล้วให้เริ่มแผงใหม่ในรุ่งขึ้น
- ยาคุมกำเนิดชนิด 28 เม็ด มีฮอร์โมนจริงๆ 21 เม็ด ส่วนอีก 7 เม็ดเป็นวิตามินไม่มีฮอร์โมน เพื่อป้องกันการลืมรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดแผงใหม่ สำหรับยาคุมกำเนิดชนิด 21 เม็ด เป็นฮอร์โมนทั้ง 21 เม็ด เมื่อรับประทานหมดแผงแล้ว 7 วัน แล้วจึงเริ่มยาแผงใหม่
- หากลืมรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด 1 เม็ด ให้รับประทานเม็ดนั้นทันทีที่นึกได้ และรับประทานเม็ดที่เหลือต่อไปตามเวลาจนหมดแผง ถ้าลืมรับประทาน 2 เม็ดให้รับประทานวันละสองเม็ดสองวัน โดยรับประทานเพิ่มหนึ่งเม็ดหลังอาหารเช้าสองวัน และมื้อเย็น หรือก่อนนอน รับประทานเหมือนเดิม ถ้าลืมใน 1-7 เม็ดแรก ต้องใช้วิธีการคุมกำเนิดชนิดอื่นร่วมด้วยเช่น การใช้ถุงยางอนามัย ถ้าลืมรับประทาน 3 เม็ด ให้หยุดยาเพื่อรอให้ประจำเดือนมา โดยระหว่างรอประจำเดือนมาให้ใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นเช่น ถุงยางอนามัย เมื่อประจำเดือนมาแล้วให้เริ่มรับประทานแผงใหม่ภายใน 5 วันแรกของประจำเดือน แต่ถ้ายาเม็ดที่ที่ลืมรับประทาน เป็นเม็ดที่ 15-21 ของแผงซึ่งเป็นฮอร์โมน เมื่อรับประทานยาจนหมดไม่ต้องเว้นระยะ 7 วัน และควรใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วยเช่น การใช้ถุงยางอนามัย
- ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดไมโครโดส เป็นชนิดที่ประกอบด้วยโปรเจสตินขนาดต่ำ ข้อดีของยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดนี้คือ ไม่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนอยู่ จึงไม่มีผลต่อปริมาณและคุณภาพของน้ำนมขณะให้นมบุตร และไม่มีอาการข้างเคียงทางระบบหัวใจและหลอดเลือด แต่ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ค่อนข้างต่ำ และมักทำให้มีเลือดออกกะปริดกะปรอยด้วย
ยาฉีดคุมกำเนิด
- ฮอร์โมนที่ใช้ในยาฉีดกำเนิดมักเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์ชนิดโปรเจสติน การคุมกำเนิดชนิดนี้มีประสิทธิภาพสูง ออกฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์ได้นาน และอาการค้างเคียงต่ำ องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกายอมรับและจดทะเบียบให้ฮอร์โมนชนิด Depot MedroxyProgesterone Acetate (DMPA) ปัจจุบันยาฉีดคุมกำเนิดเป็นที่นิยม และมีแนวโน้มจะใช้เพิ่มขึ้นทั่วโลก
- กลไกการป้องกันการตั้งครรภ์ ยาฉีดคุมกำเนิด DMPA มีฤทธิ์ระงับการตกไข่ ทำให้เมือกที่ปากมดลูกเหนียวข้น เชื้ออสุจิจึงผ่านเข้าไปได้ยาก และยังทำให้สภาพของเยื่อบุโพรงมดลูกไม่เหมาะสมกับการฝังตัวของตัวอ่อน โดยทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกมีลักษณะบางหรือฝ่อ นอกจากนี้ยังทำให้หลอดมดลูกบีบตัวน้อยลงทำให้ไข่เดินทางไม่เป็นไปตามปกติ และลดความสามารถของอสุจิที่ผสมกับไข่ด้วย
- การฉีดยาคุมกำเนิด ควรเริ่มฉีดภายในวันที่ 1-5 ของรอบเดือน ถ้าเป็นการฉีดหลังคลอดบุตร ให้ฉีดยาฉีดคุมกำเนิดภายหลังคลอดบุตรเป็นเวลา 4-6 สัปดาห์ อาจฉีดทันทีหลังคลอด โดยพบว่ายาฉีด DMPA ไม่ทำให้ปริมาณน้ำนมลดลง และไม่มีผลต่อการพัฒนาการของทารก ภายหลังจากการฉีดเข็มแรกควรฉีดเข็มต่อไปทุก 12 สัปดาห์ หรือ 84 วัน
- ยาฉีด DMPA ออกฤทธิ์นาน 3 เดือน ไม่จำเป็นต้องใช้ทุกวันเหมือนยาเม็ดคุมกำเนิด จึงไม่ต้องกลัวการหลงลืมเหมือนยาเม็ดคุมกำเนิด ยาเม็ดคุมกำเนิดยังมีประสิทธิภาพสูง มีอาการข้างเคียงน้อยทำให้เลือดออกทางช่องคลอดน้อยกว่ารอบระดูปกติ
- อาการข้างเคียงของยาฉีดคุมกำเนิด อาจทำให้เลือดออกกระปริดกระปรอย ซึ่งมักพบใน 3 เดือนแรกหลังฉีดยา หลังจากนั้นเลือดที่ออกจะน้อยลง เมื่อฉีดเข็มต่อๆ ไป อย่างไรก็ตามควรได้รับการตรวจหาสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้มีเลือดออกกระปริดกระปรอยด้วย นอกจากนี้การใช้ยาฉีดคุมกำเนิด ไม่เสี่ยงต่อการทำให้เกิดเป็นมะเร็งปากมดลูกแต่อย่างใด
- ยาฉีด DMPA ทำให้สตรีส่วนใหญ่มีน้ำหนักเพิ่ม 1-5 กิโลกรัมใน 1 ปี จึงควรรับประทานอาหารที่เหมาะสม และออกกำลังกายร่วมด้วย ถ้าน้ำหนักเพิ่มมากหรือรวดเร็ว โดยไม่มีสาเหตุอื่นอาจเปลี่ยนวิธีคุมกำเนิด
ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง (Norplant)
- เป็นยาคุมที่ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินลักษณะเป็นหลอดซิลิโคน ใช้ฝังบริเวณต้นแขนด้านใน โดยฮอร์โมนจะค่อยๆ ถูกปลดปล่อยสู่ร่างกายช้าๆ
- มีผลคุมกำเนิดนานประมาณ 5 ปี เหมาะสำหรับผู้มีบุตรเพียงพอแล้ว หรือต้องการเว้นระยะห่างของการมีบุตรนานๆ
- ปัจจุบันสะดวกสามารถรับบริการได้ตามโรงพยาบาลของรัฐ และคลินิคทั่วไป
การใส่ห่วงอนามัย (IUD)
- เป็นการคุมกำเนิดที่นิยมทำกันในสตรี ที่ต้องการคุมกำเนิดนานๆ อาจใส่หลังคลอดหรือช่วงประจำเดือนมา
- ปัจจุบันมีห่วงที่นิยมใช้อยู่ 2 แบบ คือ คอปเปอร์ที (CU-T) และมัลติโหลด (Multiload) การใส่ห่วงอนามัยต้องอาศัยบุลากร ที่ผ่านการอบรมด้านเทคนิคเพราะห่วงจะต้องใส่เข้าไปอยู่ในโพรงมดลูก
- ห่วงสามารถคุมกำเนิดได้นานประมาณ 3 ปี หลังใส่อาจมีอาการปวดเกร็งท้องได้ ห่วงอนามัยไม่เหมาะกับ คนที่มีโอกาสติดเชื้อง่าย เช่น เป็นโรคเบาหวาน รับประทานยากดภูมิ เป็นมะเร็งหรือมีเพศสัมพันธ์แบบเปลี่ยนคู่บ่อย เพราะที่บริเวณต่อจากห่วงจะมีเชือกต่อออกมาบริเวณปากมดลูก ใช้เป็นตัวตรวจสอบสอบว่าห่วงยังอยู่ในตำแหน่งปกติหรือไม่ เชือกนี้จะเป็นจุดที่เชื้อเข้าสู่มดลูกได้
- นอกจากตรวจสอบดูเชือกแล้วต้องได้รับการตรวจมะเร็งปากมดลูกปีละครั้ง หรือเมื่อมีความปกติ เช่น เลือดออกทางช่องคลอด ปวดท้องเกร็ง หรือคลำเชือกไม่พบ
การสวมถุงยางอนามัยสตรี (Diaphragm)
- เป็นถุงยางขนาดค่อนข้างใหญ่ให้ผู้หญิงสวมก่อนมีเพศสัมพันธ์มีมานานแล้ว แต่เพิ่งมาเพิ่มความนิยมช่วงที่มีการนำเอามาใช้ป้องกันโรคติดต่อ ทางเพศสัมพันธ์ เช่น เอดส์
- ปัจจุบันออกแบบใช้สะดวกขึ้น ไม่รำคาญ ใช้ง่าย ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เหมาะสำหรับการคุมกำเนิด และป้องกันการติดเชื้อ กรณีผู้ชายปฏิเสธถุงยางอนามัยแบบผู้ชาย
การสวมถุงยางอนามัยผู้ชาย (Condom)
- เป็นวิธีคุมกำเนิดที่ง่ายสะดวก และมีความปลอดภัย ในการป้องกันการตั้งครรภ์ และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เอดส์ หนองใน แผลริมอ่อน ซิฟิลิส แต่ไม่อาจป้องกันการติดเชื้อไวรัสมะเร็งปากมดลูกได้
- เทคนิควิธีการใช้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ กล่าวคือ ต้องมีการพิจารณาถึงคุณภาพ และชนิดของถุงยาง โดยดูวันหมดอายุ การฉีกซองต้องระวังถุงยางจะรั่วขาด การสวมต้องขณะอวัยวะเพศชายแข็งตัว โดยบีบที่ปลายถุง แล้วสวมเพื่อให้ส่วนปลายเป็นที่รองรับน้ำอสุจิที่จะหลั่งออกมา ห้ามใช้วาสลินหรือน้ำมันเป็นสารหล่อลื่น แต่ให้ใช้เจลหรือน้ำแทน เมื่อใช้เสร็จการถอดต้องใช้กระดาษทิชชูพันรอบ แล้วดึงออกมานำทิ้งในภาชนะที่จัดไว้ เป็นวิธีที่สะดวก ปลอดภัย หาง่าย ราคาไม่แพง
การคุมกำเนิดแบบถาวร
- ในผู้หญิงอาจทำหลังจากคลอดขณะอยู่โรงพยาบาลภายใน 1 สัปดาห์แรก เรียกว่า หมันเปียก สะดวกสำหรับผู้ที่มีบุตรพอเพียง การผ่าตัดใช้เวลาไม่นาน โดยทำการผูก และตัดท่อนำไข่ การทำวิธีนี้อาจทำร่วมกับผ่าตัดช่องท้องอย่างอื่น หรือทำช่วงไหนก็ได้เรียกหมันแห้ง
- การทำหมันถาวรในผู้ชายโดยการตัดท่อนำอสุจิ ทำเวลาไหนก็ได้ที่ร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง แผลเล็กใช้เวลาสั้น ประมาณ 20 นาทีก็เสร็จ หลังจากทำแล้วต้องชี้แจงให้ทราบว่า ยังคงมีเชื้ออสุจิค้างอยู่ในท่อนำน้ำเชื้อ จึงต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอย่างอื่น โดย รอจนนานกว่า 3 เดือน เพราะการสร้างเชื้ออสุจิใช้เวลาประมาณนั้น
อ้างอิง
- Contraception Issues in Adolescent Health and Development, WHO 2004
- Birth control FAQ 112 the American College of Obstetricians and Gynecologists, ACOG
- http://www.bangkokhealth.com/health/article/การเลือกวิธีคุมกำเนิด-1364