ความเข้าใจเครื่องสำอางเพื่อเป็นเกราะป้องกันตัวเราเอง
บทความโดย
รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.พิมลพรรณ พิทยานุกุล
ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
หัวข้อ : เครื่องสำอางกับสุขภาพ
ต้นฉบับบทความ
https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/385/เครื่องสำอางกับสุขภาพ/
รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.พิมลพรรณ พิทยานุกุล
ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
หัวข้อ : เครื่องสำอางกับสุขภาพ
เครื่องสำอาง แตกต่างจากยาอย่างชัดเจน เครื่องสำอางใช้ทาถูบนร่างกายเพื่อทำความสะอาด แต่งแต้มให้สวยงาม เพิ่มความดึงดูดและเปลี่ยนแปลงสภาพภายนอก เช่น ครีมทาผิว โลชั่น น้ำหอม ลิปสติค ยาทาเล็บ ผลิตภัณฑ์รอบผิวหน้าและดวงตา น้ำยาดัดผม น้ำยาโกรกสีผม รวมทั้งยาสีฟัน ยา ใช้เพื่อแก้ไข รักษา และป้องกันโรคที่เกิดกับร่างกาย ส่วนเครื่องสำอางไม่สามารถเปลี่ยนแปลง หรือมีผลต่อโครงสร้างและหน้าที่ของร่างกาย
มีอะไรอยู่ในเครื่องสำอาง ?
น้ำหอมและสารกันเสียนับได้ว่าเป็นองค์ประกอบหลักที่สำคัญในเครื่องสำอาง ต่ำกว่าปกติ- น้ำหอม เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการแพ้ของผิวหนัง น้ำหอมประกอบด้วยสารเคมีและสารธรรมชาติต่างๆรวมกันมากมาย เครื่องสำอางที่ติดฉลากว่า "ปราศจากน้ำหอม" บางชนิดปราศจากการใส่น้ำหอมจริงๆ แต่บางผลิตภัณฑ์ยังมีการปรุงแต่งด้วยน้ำหอมเล็กน้อยเพื่อกลบกลิ่นไขและสารประกอบอื่นๆ
- สารกันเสีย ในเครื่องสำอาง นับเป็นอันดับสองรองจากน้ำหอมที่ก่อให้เกิดปัญหาทำให้ผิวหนังแพ้ได้ สารกันเสียทำหน้าที่กันเชื้อแบคทีเรียและราไม่ให้เจริญเติบโตในผลิตภัณฑ์ และยังป้องกันไม่ให้ผลิตภัณฑ์เสียง่ายเมื่อได้รับแสงแดดและความร้อน
- สี ในเครื่องสำอาง ต้องเป็นสีที่ปลอดภัยตามข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา คือ สีที่ใช้สำหรับ อาหาร ยาและเครื่องสำอาง (FD&C) หรือสีที่ใช้สำหรับยาและเครื่องสำอาง (D&C) หรือสีใช้ภายนอกสำหรับยาและเครื่องสำอางเท่านั้น
เครื่องสำอางปลอดภัยหรือไม่?
ส่วนใหญ่ปลอดภัย ยกเว้นเครื่องสำอางปลอมหรือชนิดที่ผิดกฎหมาย ความไม่ปลอดภัยบางครั้งเกิดจากการใช้งานที่ไม่ถูกต้อง เช่น- การขยี้ตาที่มีมาสคาร่า ทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ถ้าไม่รักษา เพื่อความปลอดภัยไม่ควรเขียนคิ้ว ทาขอบตาระหว่างที่เดินทางในรถยนต์ รถไฟ หรือเครื่องบิน
- ไม่ควรใช้เครื่องสำอางร่วมกับผู้อื่น เพราะเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์จากเราเองไปสู่ผู้อื่น หรือจากผู้อื่นมาสู่เราได้ รวมถึงการไม่ใช้หวีร่วมกัน ไม่ใช้สบู่อาบน้ำก้อนเดียวกัน เพราะเชื้อโรคหรือเชื้อจุลินทรีย์เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
- ขณะนอนหลับ ไม่ควรมีเครื่องสำอางอยู่รอบดวงตาและผิวหน้า เพราะเคมีในเครื่องสำอางอาจเข้าตาเมื่อขยี้ตาได้ ปัญหาตาอักเสบจะตามติดมาได้ง่าย
- ผลิตภัณฑ์ประเภทแอโรซอล ไม่ควรวางกระป๋องแอโรซอลใกล้ความร้อนหรือไฟ หรือใกล้คนที่ชอบสูบบุหรี่ เพราะองค์ประกอบในผลิตภัณฑ์ติดไฟง่าย สามารถระเบิดได้ ระหว่างการใช้งาน เช่น สเปรย์ผม ให้ระวังไม่สูดดมเข้าไป เพราะจะสะสมที่ปอด ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดได้
จะป้องกันตนเองจากอันตรายของเครื่องสำอางอย่างไร?
- ไม่แต่งหน้าระหว่างขับรถ หรือโดยสารในรถ
- ไม่ใช้เครื่องสำอางร่วมกับผู้อื่น
- ปิดภาชนะให้แน่น เก็บให้พ้นจากแสงและความร้อน
- อย่าใช้เครื่องสำอาง หากมีปัญหาตาอักเสบ และทิ้งผลิตภัณฑ์ไปหากพบปัญหา เช่น เก่าเก็บ เนื้อครีมสลายตัว
- อย่าเติมของเหลวหรืออื่นๆลงในผลิตภัณฑ์ ยกเว้นมีคำแนะนำบนฉลาก
- โยนทิ้ง หากพบว่าสีเครื่องสำอางที่ใช้อยู่เริ่มเปลี่ยน หรือส่งกลิ่นผิดปรกติ
- อย่าใช้กระป๋องสเปรย์ใกล้ความร้อน หรือระหว่างสูบบุหรี่ เพราะอาจระเบิดได้
- อย่าสูดดมละอองสเปรย์ หรือผงแป้งเข้าปอด เพราะถ้าสเปรย์ทุกวัน อาจเกิดการสะสมจนเกิดอันตรายต่อปอดได้
- หลีกเลี่ยงการใช้สีถาวรบริเวณรอบดวงตา เพราะมักจะมีโลหะ เช่น ตะกั่ว เป็นองค์ประกอบ ก่อให้เกิดอันตรายต่อตาได้
เวชเครื่องสำอาง คืออะไร?
ผลิตภัณฑ์บางชนิดเป็นได้ทั้งยาและเครื่องสำอาง เช่น แชมพูสระผม จัดเป็นเครื่องสำอางเพื่อทำความสะอาดเส้นผม แต่หากมีองค์ประกอบของสารขจัดรังแคซึ่งมีคุณสมบัติต้านเชื้อราอันเป็นสาเหตุของรังแค แชมพูชนิดขจัดรังแคจะจัดเป็นยา และหาซื้อได้จากร้ายขายยาเท่านั้น ตัวอย่างอื่นๆที่มีคุณสมบัติเป็นทั้งยาและเครื่องสำอาง เช่น ยาสีฟันผสมฟูออไรด์ ผลิตภัณฑ์ขจัดกลิ่นตัวชนิดที่มีฤทธิ์ระงับเหงื่อ และครีมบำรุงผิวที่มีสารกันแดดชนิดเคมี (chemical sunscreening agent) ผลิตภัณฑ์เวชสำอางต้องมีคุณสมบัติครบทั้งทางเครื่องสำอางและยาตามที่ อย.กำหนดเครื่องสำอางสามารถเก็บได้นานแค่ไหน?
ผลิตภัณฑ์ประเภทรอบดวงตา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาสคาร่า อายเชโด่ ดินสอเขียวคิ้วและขอบตา ไม่สามารถใช้ได้นานๆเท่ากับชนิดอื่นๆ เพราะโอกาสในการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ระหว่างการใช้งานมีสูงมาก อาจทำให้เกิดอักเสบของเยื้อบุลูกตาได้ ผู้เชี่ยวชาญทางเครื่องสำอางแนะนำให้เปลี่ยนผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทิ้งทุก 3 เดือนภายหลังจากการเปิดใช้งาน ผลิตภัณฑ์ประเภทสมุนไพรหรือชนิดที่มีองค์ประกอบจากธรรมชาติ มักจะเก็บได้ไม่นาน ผู้ใช้ควรหมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปรกติ เช่น สี กลิ่น และความหนืดของเนื้อครีม เพราะทั้งสี กลิ่นและความหนืดที่เปลี่ยนไป แสดงถึงการสลายตัวของผลิตภัณฑ์อันอาจมีสาเหตุจากการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ได้ เนื่องจากสารสกัดจากธรรมชาติมักจะไม่มีสารกันเสีย ถ้าพบการเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นให้หยุดใช้ และทิ้งไปทันทีไม่ต้องเสียดาย นอกจากนั้นการเก็บผลิตภัณฑ์ต้องเก็บตามคำแนะนำบนฉลาก เช่น หลีกเลี่ยงจากความร้อน และแสงแดด หากเก็บไม่ได้ตามคำแนะนำ อายุของผลิตภัณฑ์จะสั้นกว่าวันหมดอายุที่กำหนดไว้บนฉลากความปลอดภัยในการโกรกสีผมระหว่างตั้งครรภ์?
จากการศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลองและในอาสาสมัคร พบว่าสีย้อมผมหรือสารเคมีจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายน้อยมาก ๆ ในระหว่างการโกรกสีผม และไม่มีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่มีความรู้มากมายนักถึงผลกระทบต่อทารกในครรภ์ในระยะยาว หากไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเช่นนี้จะดีกว่าต้นฉบับบทความ
https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/385/เครื่องสำอางกับสุขภาพ/