รู้ทันสาเหตุและแนวทางป้องกันการฆ่าตัวตายในเด็ก
บทความโดย
ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้านการศึกษา
ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้านการศึกษา
ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมามีข่าวคราวน่าตกใจเกี่ยวกับนักเรียน นิสิต นักศึกษา ฆ่าตัวตายหลายคนติดต่อกัน เพียงสัปดาห์เดียวเกิดเหตุนิสิตนักศึกษาฆ่าตัวตายกระโดดจากที่สูง โดยเลือกใช้สถานที่เป็นอาคารเรียนและหอพักจำนวน 6 ราย จาก 6 สถาบันการศึกษาล่าสุดเพิ่งเกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนชั้น ม.3 ที่ตัดสินใจกระโดดน้ำในสระน้ำจนเสียชีวิต โดยเขียนจดหมายลาระบายความในใจไว้ว่าตนเองเรียนติด "ร" เยอะมาก และไม่อยากเรียนซ้ำชั้น จึงตัดสินใจทำแบบนี้ เกิดอะไรขึ้น ? มันไม่น่าใช่เรื่องปกติแล้ว ! ก่อนหน้านี้ก็มีเหตุการณ์ทำนองนี้มาโดยตลอด และเราก็เห็นข่าวเรื่องนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า จนดูเหมือนไม่เคยมีการตระหนักที่จริงใจในการหาแนวทางเป็นรูปธรรมที่แก้ไขหรือป้องกันปัญหาเหล่านี้ ปล่อยให้เป็นเรื่องของแต่ละครอบครัวเผชิญสภาพปัญหากันไป และแน่นอนว่าเมื่อมีการไล่เรียงหาสาเหตุการฆ่าตัวตาย มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาด้วยสาเหตุหลัก ดังนี้
- หนึ่ง - โรคซึมเศร้า เป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อย โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า มีประชากรทั่วโลกประสบกับโรคซึมเศร้าประมาณ 350 ล้านคน ส่วนตัวเลขผู้ป่วยในไทยมีตัวเลขจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ใน ปี 2560 มีคนไทยถึง 1.5 ล้านคน ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่ ความผิดปกติของสารเคมีภายในสมองจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด โดยมีสารเคมีที่มีชื่อว่าเซโรโทนิน (Serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) ลดน้อยลงจากเดิม ทำให้สมดุลของสารเหล่านี้เปลี่ยนไปและเกิดความบกพร่องในการทำงานร่วมกัน หรืออาจเกิดจากกรรมพันธุ์ หากคนในครอบครัวเคยป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามาก่อน สมาชิกในครอบครัวบางคนก็อาจมีความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน รวมไปถึงการเผชิญความเครียด เช่น เจอมรสุมชีวิต มีอาการเจ็บป่วยที่เรื้อรัง ตกงาน อกหัก มีปัญหาเรื่องการเรียน ฯลฯ จนนำไปสู่ความกดดันและเมื่อหาทางออกไม่ได้ ก็มีความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า
- สอง - ความพึงพอใจในตนเองต่ำ (Low Self Esteem ) คือ การรู้สึกไม่ดีกับตนเอง ไม่ค่อยภูมิใจในตนเอง ขาดความเชื่อมั่น ไม่เห็นคุณค่าในตนเอง คนประเภทนี้จะอ่อนไหวง่ายต่อคำวิพากษ์วิจารณ์มักจะทนไม่ค่อยได้ การแสดงออกทางอารมณ์ เช่น เศร้า เสียใจ น้อยใจ สะเทือนใจง่าย
- สาม - ภาวะกดดัน หรือมีภาวะความเครียด สาเหตุอาจเป็นทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน เช่น แรงกดดันจากตัวเอง แรงกดดันจากครอบครัว ที่อยากจะให้ประสบความสำเร็จ หรือเป็นความคาดหวังของครอบครัวในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เด็กบางคนสามารถรับมือกับภาวะความกดดันได้ แต่เด็กบางคนอาจไม่สามารถรับมือได้ จนกลายเป็นความกังวล, ความสิ้นหวัง, ความรู้สึกผิด ฯลฯ
สำหรับกรณีวัยรุ่นนอกจากเรื่องความรักก็มักจะเป็นเรื่องเรียนนี่แหละที่สร้างความเครียดให้กับเด็กยุคนี้ แต่สำหรับกรณีที่ยกตัวอย่างข้างต้น มีการสันนิษฐานว่ามาจากปัญหาเรื่องการเรียน ! เราต้องยอมรับว่าในสังคมไทยเปิดพื้นที่และขับเน้นสำหรับเด็กที่เก่งวิชาการเป็นอย่างมาก ในขณะที่โครงสร้างการศึกษาบ้านเราก็มุ่งเน้นไปในเรื่องการแข่งขัน และใช้ระบบแพ้คัดออกตลอดตั้งแต่เล็ก ยิ่งเท่ากับเป็นการกำหนดทิศทาง เปิดโอกาสและเปิดพื้นที่ให้เด็กเรียนเก่งเท่านั้น อีกทั้งค่านิยมเด็กเรียนดี เรียนเก่ง มักได้รับการยอมรับทั้งจากพ่อแม่ คุณครู คนรอบข้าง รวมไปถึงผู้คนในสังคม เพราะทำให้ได้รับการนับหน้าถือตา และมักได้เป็นตัวแทนไปแข่งขันทางด้านวิชาการสารพัดรายการ รวมไปถึงการแข่งขันเพื่อไปสู่เป้าหมายของการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ที่ผ่านมา เราให้คุณค่าและส่งเสริมให้เด็กเรียนเก่งทางวิชาการ เราจึงพบเห็นสถาบันกวดวิชาเต็มบ้านเต็มเมือง เพราะพ่อแม่ต่างก็อยากช่วงชิงให้ลูกเป็นเด็กเก่ง เป็นที่หนึ่ง เพราะพุ่งเป้าว่าจะทำให้มีโอกาสในอนาคตได้มาก
ด้วยสภาพสังคมที่เน้นเรื่องการแข่งขันทางด้านวิชาการอย่างระห่ำ ทำให้เราต้องสูญเสียศักยภาพของเด็กจำนวนมากที่เขาเก่งในเรื่องอื่น ทำให้เด็กขาดโอกาส ขาดการได้รับการส่งเสริมตั้งแต่ในบ้าน ความไม่รู้ว่าตัวเองมีศักยภาพอย่างอื่น และขาดการรับรู้ว่าแม้เรียนไม่เก่งก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความสามารถในด้านอื่นๆ
เด็กจำนวนมากที่เรียนไม่เก่ง แล้วถูกพ่อแม่เคี่ยวเข็ญต่าง ๆ นานา ด้วยเหตุผลเพื่ออนาคตของลูก แต่หารู้ไม่ว่าเท่ากับเป็นการทำร้ายลูก และทำลายศักยภาพในตัวลูก และที่สำคัญเท่ากับเป็นการยัดเยียดความเครียดให้กับลูกอีกต่างหาก !
ถ้าพ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมไปถึงครูบาอาจารย์ ลองเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนมุมมอง แล้วหันมามองเด็กอย่างเข้าใจและช่วยค้นหาศักยภาพ ความถนัดของเด็ก จากนั้นก็ส่งเสริมสนับสนุนให้เขาทำในสิ่งที่ถนัดและชอบ เราอาจจะพบว่าเด็กคนนั้นมีความสามารถพิเศษสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างน่าทึ่งก็ได้
เราลองหันมามองลูกของเราด้วยสายตาของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่เข้าใจและยอมรับในตัวลูกกันดีไหมคะ
- ประการแรก - ต้องประเมินศักยภาพลูกของเราด้วยสายตาที่เป็นจริง ไม่ใช่สายตาที่พ่อแม่อยากให้เป็น เพราะมันจะมีความแตกต่างกันมาก จากนั้นเมื่อพบว่าลูกของเราเข้าข่ายเด็กเรียนไม่เก่งในเรื่องวิชาการ ก็ควรต้องยอมรับว่า ลูกของเราไม่ใช่เด็กหัวดีประเภทหัวกะทิ ก็ควรส่งเสริมให้ลูกตั้งใจเรียนให้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เท่าที่ได้ อย่าพยายามกดดันเปลี่ยนตัวตนของลูกด้วยการพยายามให้ลูกเรียนพิเศษอย่างระห่ำเพื่อจะได้เรียนเก่งเหมือนคนอื่น
- ประการที่สอง - ส่งเสริมให้ลูกเรียนหนังสืออย่างมีความสุข รับผิดชอบตัวเอง โดยพ่อแม่ทำหน้าที่เพียงเข้าไปมีส่วนช่วยในการกระตุ้นให้เขารับผิดชอบต่อการเรียนของตัวเอง ทำให้เต็มที่ และให้ความมั่นใจกับลูกว่า ไม่ว่าผลการเรียนออกมาจะเป็นอย่างไร ถ้าลูกทำเต็มที่แล้ว พ่อแม่ก็ภูมิใจในตัวลูก
- ประการที่สาม - ลดความคาดหวังและเพิ่มกำลังใจ กรณีที่ลูกเรียนเก่งอยู่แล้ว ก็มักเป็นที่คาดหวังของพ่อแม่ อยากให้ได้เรียนที่ดี ๆ ได้เกรดดี ๆ แต่สำหรับคนที่เรียนไม่ดี พ่อแม่ก็ควรลดความคาดหวังลง ไม่ต้องถึงขนาดเคี่ยวเข็ญมาก ขอให้เรียนจบไม่สอบตกก็พอ ก็จะทำให้ลูกไม่ต้องกดดันมากจนเกินไป เขายังสามารถเดินตามความฝันของเขาได้เต็มที่แบบไม่ต้องเครียด และให้กำลังใจลูก แม้เพียงลูกเรียนได้คะแนนดีขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย ก็ควรให้ความชื่นชมและส่งเสริมแรงบวก ไม่ใช่โวยวายดุว่า ที่ทำไมพยายามแล้วทำคะแนนได้เท่านี้เองหรือ
- ประการสุดท้าย - ค้นหาศักยภาพในตัวลูก อย่าเอาลูกไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น เพราะมีเด็กที่เรียนวิชาการไม่เก่ง หรือเรียนปานกลางจำนวนมาก ที่มีความสามารถทางด้านอื่น ๆ เพียงแต่อาจไม่เคยรู้ หรือรู้แต่ไม่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุน ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายยิ่ง ถ้าพ่อแม่ลองสังเกตและส่งเสริมทักษะทางด้านอื่นๆ ของลูก ใครจะไปรู้ว่าวันหนึ่งเขาอาจจะประสบความสำเร็จในชีวิตด้านที่เขาถนัดก็ได้
ในขณะเดียวกันสถาบันการศึกษาก็ควรจะมีพื้นที่ในการให้คำแนะนำแก่เด็กๆ อย่างเป็นระบบและจริงจัง มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยาในโรงเรียน เพื่อให้คำแนะนำ และเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของเด็กนักเรียน นิสิต นักศึกษา เมื่อเห็นความผิดปกติก็ควรเร่งให้ความช่วยเหลือ และประสานกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง เพื่อช่วยกันร่วมหาทางแก้ไขได้ทันท่วงที
พื้นฐานของครอบครัวมีความสำคัญมากต่อการเติบโตของลูก สถาบันการศึกษาก็เป็นเสมือนบ้านหลังที่สองของเด็กและเยาวชน แล้วถ้าสถานที่ทั้งสองแห่งไม่สามารถเปิดพื้นที่ความสุข ความรักและความเข้าใจให้กับเด็กและเยาวชนได้อย่างเท่าทันล่ะ ! ยิ่งถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองใส่ความคาดหวังหรือพยายามให้ลูกเป็นในสิ่งที่เขาเป็นไม่ได้ และผู้ใหญ่ไม่ทันสังเกตถึงสัญญานที่พวกเขาพยายามบอกบางประการ สุดท้ายก็อาจลงเอยด้วยโศกนาฏกรรมซ้ำๆ ก็ได้ !
ขอบคุณบทความดี ๆ จาก
ภาพประกอบจาก