ระวังยาบางชนิดอาจทำให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหาร

ข้อควรระวังยาบางชนิดอาจทำให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหารได้



บทความโดย
รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ยามีผลไม่พึงประสงค์ต่อทางเดินอาหารได้หลายอย่าง ยาบางชนิดทำให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหาร (gastric ulcer) หรือ “โรคกระเพาะ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม “ยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (non-steroidal antiinflammatory drugs หรือ NSAIDs)” ซึ่งคนทั่วไปมักเรียกว่า “ยาแก้ปวดข้อ” หรือ "ยาแก้ข้ออักเสบ" และบุคลากรทางการแพทย์มักเรียกสั้น ๆ ตามชื่อย่อในภาษาอังกฤษว่า "เอ็นเสด (NSAIDs)" (อ่านข้อมูล "ยาแก้ปวดข้อ ข้ออักเสบ-กลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs)") ส่วนยาอื่นที่ทำให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหารได้เช่นกันแม้จะพบได้น้อยกว่า เช่น ยาในกลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์ (glucocorticoids) หรือที่รู้จักกันว่า “ยาสเตียรอยด์” สำหรับใช้ลดการอักเสบและกดภูมิคุ้มกัน, ยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนต (bisphosphonates) ชนิดรับประทานสำหรับใช้ป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุน, ยากดภูมิคุ้มกัน (immunosuppressive drugs) สำหรับใช้ในผู้ที่มีการปลูกถ่ายอวัยวะและรักษาโรคมะเร็งบางชนิด ในบทความนี้กล่าวถึงโรคแผลในกระเพาะอาหารและยาที่เป็นสาเหตุ โดยเน้นยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) กลไกที่ยาเหล่านั้นทำให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหาร ปัจจัยส่งเสริมการเกิดโรคแผลในกระเพาะอาหารจากยา และข้อแนะนำในการใช้ยาเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแผลในกระเพาะอาหาร

โรคแผลในกระเพาะอาหารและยาที่เป็นสาเหตุ

โรคแผลในทางเดินอาหารที่เนื่องจากกรด (peptic ulcers) ซึ่งรวมถึงโรคแผลที่กระเพาะอาหาร เกิดได้จากหลายสาเหตุ สาเหตุที่สำคัญคือการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อเฮลิโคแบคเตอร์ไพโลไร (Helicobacter pylori) และการใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ผู้ป่วยมีอาการปวดและแสบท้องบริเวนใต้ลิ้นปี่ ส่วนใหญ่ปวดขณะท้องว่าง อาการแย่ลงตอนกลางคืนหรือตื่นนอนตอนเช้า แต่บางรายอาจมีอาการปวดเพิ่มขึ้นหลังรับประทานอาหาร นอกจากนี้ยังมีอาการอื่น เช่น คลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักตัวลด ถ่ายอุจจาระดำ ยาที่เป็นสาเหตุของโรคแผลในกระเพาะอาหารซึ่งนอกจากยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) แล้วยังมียาอื่นอีกมากมายแม้จะเป็นสาเหตุที่พบได้น้อยกว่า

ยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) มียามากมายที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ หากแบ่งตามการออกฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ "ไซโคลออกซิจีเนส" หรือ "ค็อกซ์" (cyclooxygenase หรือ COX) ซึ่งเอนไซม์นี้ทำหน้าที่สร้างสารพรอสตาแกลนดิน (prostaglandins) อาจแบ่งยาเอ็นเสด (NSAIDs) ออกเป็นกลุ่มที่ยับยั้งทั้งค็อกซ์-1 และค็อกซ์-2 และกลุ่มที่เลือกยับยั้งหรือมีความเจาะจงในการยับยั้งค็อกซ์-2 ซึ่งการยับยั้งค็อกซ์-1 จะสัมพันธ์กับการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ตัวอย่างยาที่ยับยั้งค็อกซ์-1 ได้ เช่น แอสไพริน (aspirin หรือ acetyl salicylic acid), ไอบูโพรเฟน (ibuprofen), ไดโคลฟีแน็ก (diclofenac), นาพร็อกเซน (naproxen), ไพร็อกซิแคม (piroxicam) ดูชื่อยาเพิ่มเติมได้ในตาราง

ยาอื่น นอกจากยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ยังมียากลุ่มอื่นที่อาจทำให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหารแต่พบได้น้อยกว่า (ดูตัวอย่างชื่อยาในตาราง) กลุ่มที่จะกล่าวถึงได้แก่ 
     (1) กลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์ (glucocorticoids) หรือที่รู้จักกันว่า “ยาสเตียรอยด์” ใช้ลดการอักเสบและกดภูมิคุ้มกันในโรคต่าง ๆ ยาในกลุ่มนี้เช่น เดกซาเมทาโซน (dexamethasone), เพรดนิโซน (prednisone), เพรดนิโซโลน (prednisolone); 
     (2) กลุ่มบิสฟอสโฟเนต (bisphosphonates) ชนิดรับประทาน ใช้ป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุน ยาในกลุ่มนี้เช่น อะเลนโดรเนต (alendronate), ไอแบนโดรเนต (ibandronate), ไรเซโดรเนต (risedronate) และ  
     (3) กลุ่มยากดภูมิคุ้มกัน (immunosuppressive drugs) ใช้ในผู้ที่มีการปลูกถ่ายอวัยวะและใช้รักษาโรคมะเร็งบางชนิด ยาในกลุ่มนี้เช่น ไซโคลฟอสฟาไมด์ (cyclophosphamide), เมโทเทรกเซต (methotrexate), ฟลูออโรยูราซิล (5-fluorouracil หรือ 5-FU), ทาโครลิมัส (tacrolimus)


ยาทำให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหารได้อย่างไร?

ยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ยาในกลุ่มนี้อาจทำให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหารได้ด้วยกลไกหลายอย่าง เช่น ทำให้เกิดการระคายเนื้อเยื่อบุผิว (epithelium) ในกระเพาะอาหารโดยตรง ทำอันตรายต่อชั้นเยื่อเมือก (mucosa) ผ่านการชักนำให้เกิดการสร้างอนุมูลอิสระ ทำให้หลอดเลือดขนาดเล็กที่ชั้นเยื่อเมือกเสียหาย เกิดการรั่วของเม็ดเลือดขาวและสารอื่น ส่งผลให้เกิดการขัดขวางการไหลเวียนเลือดบริเวณนั้นและเกิดแผลเรื้อรังได้ แต่กลไกที่สำคัญเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ชนิดค็อกซ์-1 จึงยับยั้งการสร้างสารพรอสตาแกลนดินที่กระเพาะอาหาร (ดังกล่าวข้างต้น) ซึ่งที่กระเพาะอาหารนี้สารพรอสตาแกลนดินมีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรด ยับยั้งการหลั่งแกสตริน (gastrin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งกรด และยังกระตุ้นการหลั่งไบคาร์บอเนตและเมือก (สิ่งเหล่านี้ช่วยเคลือบกระเพาะอาหาร) 
     ดังนั้นสารพรอสตาแกลนดินจึงมีบทบาทในการช่วยปกป้องผนังกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ช่วยให้เกล็ดเลือดเกาะกลุ่ม ทำให้เลือดที่ไหลออกมากลายเป็นลิ่มเลือดและหยุดไหล 
     ด้วยเหตุนี้การใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ซึ่งยับยั้งการสร้างพรอสตาแกลนดินจึงขาดสิ่งที่ช่วยลดการหลั่งกรดและสิ่งที่ช่วยปกป้องผนังกระเพาะอาหารดังกล่าว จึงเป็นเหตุชักนำให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหารได้

ยาอื่น ยาในกลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์ (ยาสเตียรอยด์) แม้ยังไม่ทราบกลไกที่แน่ชัดถึงการทำให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหาร แต่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสารพรอสตาแกลนดินคล้ายกับยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) จึงขาดสิ่งที่ช่วยลดการหลั่งกรดและสิ่งที่ช่วยปกป้องผนังกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ยาในกลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์ยังมีฤทธิ์เพิ่มจำนวนเซลล์ที่ผลิตกรด (parietal cell), ทำให้เนื้อเยื่อบุผิวในกระเพาะอาหารบางลง, รบกวนการซ่อมแซมเนื้อเยื่อจึงทำให้แผลหายช้า และยังบดบังอาการต่าง ๆ ของโรคแผลในกระเพาะอาหารที่เกิดขึ้นทำให้ไม่ได้รับการรักษา ส่วนกรณียาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนตซึ่งแม้ว่าส่วนใหญ่จะทำให้เกิดแผลที่หลอดอาหารได้มากกกว่า 
     อย่างไรก็ตามยาอาจทำให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหารได้เช่นกันโดยเฉพาะเมื่อใช้ในขนาดสูง ยังไม่ทราบกลไกอย่างแน่ชัดที่ยาทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร แต่คาดว่ายาอาจทำอันตรายต่อชั้นเยื่อเมือกโดยผ่านการชักนำให้เกิดอนุมูลอิสระคล้ายกับยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ทำให้ความต้านทานของชั้นเยื่อเมือกในกระเพาะอาหารลดลง กรดจึงมีโอกาสทำให้เกิดการระคายเนื้อเยื่อบุผิวและทำให้เกิดแผลได้ ส่วนยากดภูมิคุ้มกันนั้นยังไม่ทราบถึงกลไกอย่างแน่ชัดที่ยาทำให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหาร แต่ยาเหล่านี้ทำให้แผลหายช้าได้เช่นเดียวกับยาในกลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์

ปัจจัยส่งเสริมการเกิดโรคแผลในกระเพาะอาหารจากยา

มีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งเสริมการเกิดโรคแผลในกระเพาะอาหารจากยา ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้
  1. ผู้สูงอายุ
  2. ผู้ที่มีโรคแผลในกระเพาะอาหารอยู่ก่อนแล้ว
  3. การใช้ยาที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแผลในกระเพาะอาหารในขนาดสูงและใช้เป็นเวลานาน
  4. การใช้ยาที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแผลในกระเพาะอาหารร่วมกัน เช่น การใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ร่วมกับยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์
  5. การดื่มสุรา สุราทำให้ความต้านทานของชั้นเยื่อเมือกในกระเพาะอาหารลดลง จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแผลในกระเพาะอาหารจากยา
  6. การสูบบุหรี่ แม้ว่าการสูบบุหรี่ไม่ได้เป็นสาเหตุของการเกิดโรคแผลในกระเพาะอาหาร แต่อาจเพิ่มความเสี่ยงของยาต่อเกิดโรคแผลในกระเพาะอาหาร และอาจทำให้การรักษาแผลในกระเพาะอาหารให้ประสิทธิผลไม่ดีเท่าที่ควร

ข้อแนะนำในการใช้ยาเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแผลในกระเพาะอาหาร

  1. การรับประทานยาพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันทีช่วยลดการระคายกระเพาะอาหารได้บางส่วน
  2. ไม่ใช้ยาที่อาจทำให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหารดังกล่าวข้างต้นร่วมกัน
  3. ระมัดระวังการใช้ยาที่อาจทำให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหารร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดหรือยากันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulants) และยาต้านเกล็ดเลือด (antiplatelets) เพราะการใช้ยากลุ่มดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแผลในกระเพาะอาหารได้เช่นกัน นอกจากนี้หากมีแผลในกระเพาะอาหารจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดไหล (bleeding) ได้
  4. หากจำเป็นต้องใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เป็นเวลานานเพื่อรักษาโรคเรื้อรัง อาจใช้ยากลุ่มที่เลือกยับยั้งหรือมีความเจาะจงในการยับยั้งค็อกซ์-2 เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคแผลในกระเพาะอาหารได้ต่ำกว่ากลุ่มที่ยับยั้งค็อกซ์-1 ได้ดี อย่างไรก็ตามยาเหล่านั้นจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดได้
  5. ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแผลในกระเพาะอาหาร หากจำเป็นต้องใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เป็นเวลานาน อาจใช้ร่วมกับยายับยั้งการหลั่งกรดกลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของโปรตอนปั๊ม (proton pump inhibitors) โดยอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษา ทั้งนี้ไม่แนะนำให้หาซื้อยายับยั้งการหลั่งกรดมาใช้เองเพราะยากลุ่มดังกล่าวก็มีผลไม่พึงประสงค์มากเช่นกัน
------------------------------------

ขอขอบคุณบทความต้นฉบับ
https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/506/โรคกระเพาะเหตุจากยา/
Name

กระดูกและข้อ,9,การใช้สมุนไพร,13,เกร็ดความรู้สุขภาพ,28,ข้อมูลเกี่ยวกับโรค,83,คลินิกควบคุมน้ำหนัก,16,คลินิกจิตเวช,30,ช่วง Q&A,1,เตือนภัยสุขภาพคุณผู้หญิง,22,ประเด็นสุขภาพที่ควรรู้,130,พบหมอฟัน,1,ระบบสืบพันธุ์,1,รู้ทันโควิด 19-Covid-19,25,โรคความดัน,5,โรคไต,18,โรคเบาหวาน,4,โรคผิวหนัง,15,โรคระบบทางเดินอาหาร,1,เวชศาสตร์ชะลอวัย,22,สุขภาพตา,5,หูคอจมูก,5,อาหารและยา,72,
ltr
item
ไขปัญหาเรื่องสุขภาพ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง: ระวังยาบางชนิดอาจทำให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหาร
ระวังยาบางชนิดอาจทำให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหาร
ข้อควรระวังยาบางชนิดอาจทำให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหารได้
https://blogger.googleusercontent.com/img/a/AVvXsEimpPeTb61x62xe4GdwaT6mSNZpZilcdgT_nBS8aLLuSQ_PryWPuiBU7kxWnhvh69g72XBKCtUcOCI5HjOqqdIaShZgOlyCrVHndQ4t6w0t6uO-EMbwy01ob1ar7MAS0STs61ymk5YkWgNfTXLD_h2kAEYOTRrLU3yYzXv8PHyZYNri-yNosi5xY-DT=w320-h218
https://blogger.googleusercontent.com/img/a/AVvXsEimpPeTb61x62xe4GdwaT6mSNZpZilcdgT_nBS8aLLuSQ_PryWPuiBU7kxWnhvh69g72XBKCtUcOCI5HjOqqdIaShZgOlyCrVHndQ4t6w0t6uO-EMbwy01ob1ar7MAS0STs61ymk5YkWgNfTXLD_h2kAEYOTRrLU3yYzXv8PHyZYNri-yNosi5xY-DT=s72-w320-c-h218
ไขปัญหาเรื่องสุขภาพ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
https://www.yinyang.in.th/2022/02/blog-post.html
https://www.yinyang.in.th/
https://www.yinyang.in.th/
https://www.yinyang.in.th/2022/02/blog-post.html
true
6588637073179937695
UTF-8
Loaded All Posts Not found any posts ดูทั้งหมด อ่านเพิ่มเติม Reply Cancel reply Delete By หน้าหลัก หน้า บทความ View All บทความแนะนำ หมวด ARCHIVE สืบค้น ALL POSTS ไม่พบข้อมูลที่คุณกำลังค้นหาค่ะ กลับสู่หน้าแรก Sunday Monday Tuesday Wednesday Thursday Friday Saturday Sun Mon Tue Wed Thu Fri Sat January February March April May June July August September October November December ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค. just now 1 minute ago $$1$$ minutes ago 1 hour ago $$1$$ hours ago Yesterday $$1$$ days ago $$1$$ weeks ago more than 5 weeks ago Followers Follow THIS PREMIUM CONTENT IS LOCKED STEP 1: Share to a social network STEP 2: Click the link on your social network Copy All Code Select All Code All codes were copied to your clipboard Can not copy the codes / texts, please press [CTRL]+[C] (or CMD+C with Mac) to copy